ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดี"ถวิล เปลี่ยนศรี"ฟ้องนายกฯ 7 มี.ค.

ข่าวการเมือง Monday March 3, 2014 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางนัด 7 มี.ค.57 เวลา 10.00 น.อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยคดีนี้นายถวิลฟ้องนายกรัฐมนตรี และ ก.พ.ค.ว่าได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.54 ให้ผู้ฟ้องคดีตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตามคำร้องลงวันที่ 12 ก.ย.54 ต่อมา ก.พ.ค.ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 เม.ย.55 แจ้งยกคำร้องทุกข์ ทำให้ได้รับความเสียหาย

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.54 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย.54 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งและประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับ กับเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.54 ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย.54 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

ปัญหาว่าคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลได้พิจารณาในประเด็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีย่อมมีผลให้คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ข้อโต้แย้งประการอื่นๆ ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่จำต้องพิจารณาอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ