นายกฯ ยันพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรธน. วอนใช้เครื่องมือทางการเมืองให้เกิดสามัคคี

ข่าวการเมือง Thursday March 13, 2014 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติชี้ว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลได้พิจารณาตัดสินแล้วก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอนของแต่ละฝ่ายที่จะต้องดำเนินการ คงไม่สามารถไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลและชี้แจงต่อประชาชน

หลังจากที่ได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่วันนี้ยังไม่ได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการ จึงได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำไปพิจารณาและศึกษาร่วมกันต่อไป

"ไม่อยากเห็นการใช้กฎหมายหรือใช้องค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้คำตอบต่างๆ คำตอบที่เราควรจะได้คือความสามัคคีของคนไทย การที่เราจะหาจุดหลักของสมดุลที่จะอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างบอกว่าแพ้ แล้วเราก็รุมกันในการห้ำหั่นกันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราคงอยู่ด้วยกันลำบาก แต่ถ้าเรารู้จักที่จะบอกว่าเหลือพื้นที่ให้กับทุกคนในสังคมให้อยู่ร่วมกัน เพราะสุดท้ายเราก็คือคนไทยด้วยกัน เราต้องมองหน้าอยู่ในประเทศไทยด้วยกัน เราอยากเห็นทุกคนในสังคมไทยเดินไปไหนด้วยกันได้ ความคิดเห็นต่างและการโต้แย้งกันนั้นดิฉันก็เคารพ แต่อยากเห็นว่าแม้จะมีความเห็นต่าง แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้ ไม่ใช่จะไม่สามารถมองหน้ากันในสังคมได้เลย จากคนที่ไม่เคยรู้จักสามารถที่จะโกรธเกลียดกันได้ขนาดนี้เลยหรือ เป็นความรู้สึกที่เศร้าใจของสังคม เราไม่อยากเห็นการแตกพวกแตกกลุ่ม แต่เราอยากเห็นว่าเราคือคนไทยด้วยกัน เรามีพื้นที่ให้คนไทยอยู่เถอะค่ะ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า น่าจะใช้เครื่องมือทางการเมืองให้เกิดความสามัคคี การอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ สร้างสมดุลในกระบวนการตรวจสอบการทำงาน แต่อย่าสร้างสมดุลด้วยการห้ำหั่นจนไม่มีพื้นที่ให้กับคนอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์(กปปส.) ไปปิดล้อมกระทรวงพาณิชย์จนทำให้กระบวนการประมูลข้าวต้องล้มไปว่า นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าบอกว่ารักและสงสารชาวนาทำไมไม่แยกกระบวนการความเห็นต่าง ความคิดทางการเมืองออกไป แล้วทุกคนก็มุ่งเป้ามาช่วยกันแก้ปัญหาให้ชาวนา ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว เราก็มีกลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในการตรวจสอบรัฐบาล แต่ทำไมต้องใช้กระบวนการนี้มาทำให้กระบวนการการจ่ายเงินให้กับชาวนาถูกลิดรอนออกไปอีก

"เราถูกขัดขวางตั้งแต่กระบวนการการทำงานของ ธกส. รวมทั้งธนาคารของรัฐที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง ไม่ได้รับความร่วมมือเลย จนกระบวนการไม่สามารถเดินไปได้ วันนี้ไม่สามารถเดินหน้าในกระบวนการระบายข้าวได้ ทั้งๆ ที่เป็นกระบวนการที่ถูกต้องแต่กลับถูกขัดขวาง แล้วอย่างนี้ชาวนาจะได้รับเงินได้อย่างไร หรือแม้แต่กระบวนการการฟ้องร้อง ถ้าเป็นคดีความในการฟ้องร้องเงินตรงนั้นไม่สามารถจ่ายให้กับชาวนาได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย ต้องรอให้ขั้นตอนเป็นที่สิ้นสุดก็จะยิ่งทำให้ชาวนาได้รับเงินช้าลง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ