(เพิ่มเติม) "หม่อมอุ๋ย"มองปัญหาการเมืองใกล้ยุติ ลุ้นมีรัฐบาลใหม่ในH1ช่วยกระตุ้นศก.

ข่าวการเมือง Monday March 17, 2014 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองใกล้จะจบแล้ว เนื่องจากคดีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเริ่มมีการทยอยพิจารณาตัดสินตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยเห็นว่าเรื่องไหนผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย

ส่วนการเสนอทางออกร่วมกันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้น มองว่าเนื้อหาไม่ใช่เรื่องใหม่จนทำให้ประเทศมีทางออกได้

"ขณะนี้ควรมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการที่จำเป็น แต่หากภายในครึ่งปีแรกยังไมีมีรัฐบาลใหม่ จะส่งผลกระทบให้การลงทุนชะลอตัวลงมากกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวแล้ว...ยังโชคดีที่จีดีพีในปีนี้ยังไม่ติดลบ แต่ถือว่าก็เป็นการเติบโตในระดับที่ไม่ค่อยดีนัก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....(พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท) มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ไม่อยากให้นักธุรกิจกังวลกับเรื่องนี้มากนัก เพราะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในส่วนที่จำเป็นยังสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยการใช้งบประมาณตามปกติหากมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ทั้งโครงการรถไฟรางคู่, โครงการถนน และโครงการท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนราว 1.22 ล้านล้านบาท ที่จะใช้ระยะเวลาลงทุนราว 6 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท โดยผ่านการจัดทำงบประมาณลงทุนปกติ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะยังเปิดช่องให้รัฐบาลกู้ได้อีก 10% ของงบประมาณปกติ ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอรองรับการลงทุนที่จำเป็นทั้งหมดได้

"เชื่อว่าการกู้เงินตามกรอบงบประมาณทั้งหมดจะไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ 60% จึงไม่อยากให้นักธุรกิจกังวล เพราะโครงการในส่วนนี้ได้ตัดโครงการที่ไม่จำเป็นออก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงวงเงิน 7.8 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่จำเป็น เนื่องจากมีสายการบินโลว์คอสซึ่งมีค่าบริการต่ำให้บริการอยู่แล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึงบทบาทของผู้นำองค์กรรัฐวิสาหกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติว่า ผู้บริหารรัฐวิสหกิจต้องวางตัวให้ดี อย่าแสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องใช้ไหวพริบและต้องระวังเรื่องการตัดสินใจในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบันอาจชักนำให้เสียคนได้

"อย่างกรณีธนาคารออมสินปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้กับ ธ.ก.ส.ในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้มีประชนแห่ถอนเงินออกจากออมสินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญในการตัดสินใจของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ" อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าว

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.00% นั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว เพื่อเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ และไม่ให้เกิดผลลบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ