"กิตติรัตน์"เผยแจ้ง ป.ป.ช.ไปแจงปมทุจริตรับจำนำข้าวไม่ได้เหตุติดประชุม ตปท.

ข่าวการเมือง Monday April 7, 2014 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นัดให้ไปชี้แจงในฐานะพยานกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาไม่ยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวตนเองติดภารกิจต้องเดินทางไปร่วมประชุมของธนาคารโลก(World Bank) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา
"เรื่องที่จะไปประชุมได้ plan ไว้ล่วงหน้านานแล้ว ผมจะทำหนังสือถึง ป.ป.ช.และนายกฯ ถ้า(ป.ป.ช.)ผ่อนผันได้ ก็จะได้ทำทั้งสองหน้าที่ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8-12 เม.ย.นี้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจกับการไปชี้แจงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวต่อ ป.ป.ช.เพราะชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงที่รับผิดชอบอยู่ ซึ่งดำเนินการไปตามมติ ครม.

"ไม่หนักใจ เพราะทำไปตามมติ ครม.การดำเนินโครงการขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะเกิดความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน บางเรื่องมองแค่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า แม้จะเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ แต่ตนเองไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวล่าช้า แต่พยายามแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ ท่ามกลางอุปสรรคที่มีมากมายหลายเรื่อง และต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ส่วนข้อกังวลเรื่องรัฐบาลจะหาเงินมาชำระคืนเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน พ.ค.นั้นไม่น่าจะมีปัญหา

"ไม่ได้นิ่งดูดาย แต่ต้องไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย...ทำก็โดน ไม่ทำก็โดน" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การไปประชุมครั้งนี้ตนเองเป็นตัวแทน เป็นผู้แทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม นอกจากนี้ตนเองจะใช้เวทีดังกล่าวชี้แจงถึงสถานการณ์ในประเทศให้นานาชาติเข้าใจว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีการชุมนุมทางการเมือง แต่ภาวะทางเศรษฐกิจยังดีอยู่ ทั้งฐานะการคลังที่มั่นคง หนี้สาธารณะที่ระดับ 47%ของ GDP

ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การประชุมร่วมของผู้ว่าการธนาคารโลกและผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลก หรือ Southeast Asia Voting Group (SEA Group) ในวันที่ 10 เมษายน 2557 โดยเป็นการประชุมระดับ รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง

ทั้งนี้ กลุ่มออกเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลก ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ฟิจิ อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เนปาล สิงคโปร์ ไทย ตองก้า และเวียดนาม และกลุ่มออกเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศ ได้แก่ ประเทศในกลุ่ม SEA Group และเพิ่ม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ นโยบายการดำเนินงาน และพัฒนาการที่สำคัญของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และต่อประเทศสมาชิกในกลุ่ม

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 89 (89th Development Committee Meeting) เป็นการประชุมระดับผู้ว่าการธนาคารโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแนวนโยบายที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและก่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยโอกาสกว่า เพื่อธนาคารโลกจะได้นำแนวนโยบายจากการประชุมไปใช้ดำเนินการต่อไป โดยคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารโลกจากประเทศและกลุ่มประเทศสมาชิกจำนวน 25 คน

ทั้งนี้ กลุ่มออกเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก และในปี 57 รมว.คลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารโลกจะทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นผู้แทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 11 ประเทศที่กล่าวข้างต้นเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลกและกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมฯ ซึ่งมีนายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก, นางคริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และผู้แทนองค์กรการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ เข้าร่วม ทั้งนี้หัวข้อการประชุมหลัก คือการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในยุคหลังวิกฤตและความท้าทายเชิงนโยบายในประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ฯ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในหัวข้อ เศรษฐกิจภายใต้สภาวะความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ(Economics on Climate Changes) ซึ่งจะมีนายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก และนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมด้วย และจะมีการหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งตอบข้อซักถามต่างๆ ของผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ