"นพดล"โต้"สุเทพ-อภิสิทธิ์"อย่าโยนผิด"ทักษิณ"สร้างปมขัดแย้งในบ้านเมือง

ข่าวการเมือง Monday April 7, 2014 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ว่า ใส่ร้ายโยนความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ โดนโทษระบอบทักษิณว่าเป็นปัญหาของประเทศในขณะนี้ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
"ผมเข้าใจความรู้สึกของคนพรรคนี้ที่ไม่ชนะเลือกตั้งในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองก็มีทั้งคนรักและคนชัง แต่ข้อสรุปนั้นต้องไม่มาจากเวทีสวนลุมพินีหรือลานหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องสรุปจากการหย่อนบัตรเลือกตั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าตนเองดีและมีทางออกให้ประเทศ ทำไมจึงบอยคอตการเลือกตั้งและสร้างเงื่อนปมปัญหาให้บ้านเมืองขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบันนี้" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และคนจดจำถึง 30 บาทรักษาทุกโรค สนามบินสุวรรณภูมิ โอท็อป ได้ชัดเจน แต่ถ้านึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ คนจำไม่ได้ว่าทำอะไรไว้บ้าง ตนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาติมากกว่าถ้าพรรคจะเปลี่ยนแนวทางการทำงานการเมืองโดยเน้นนโยบาย และเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาประเทศ และเข้าสู่การเลือกตั้ง จะดีกว่าการย่ำเท้าตอกย้ำวาทกรรมทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

"ชื่อของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาชนเป็นผู้ชี้ขาด แต่การบอยคอตการเลือกตั้งคือการปฏิเสธไม่ให้ประชาชนมีสิทธิ์ชี้ขาด ผมอยากเห็นทุกพรรคการเมืองอยู่ในกติกาประชาธิปไตย ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ และเสนอตัวให้ประชาชนได้เลือก มากกว่าการบอยคอตเลือกตั้ง แล้วป่าวประกาศว่าตนเป็นคนดีในเวทีข้างถนนและสื่อพวกตน ซึ่งพิสูจน์ความนิยมแท้จริงอะไรไม่ได้เลย" นายนพดล กล่าว

นายนพดล ยังกล่าวเรียกร้องการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่ขอฟันธงว่าศาลรัฐธรรมนูญตั้งธงหรือไม่กรณีรับเรื่องพิจารณาสถานภาพนายกฯ ยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับการโยกย้ายนายถวิล ถ้าเราอยู่ในประเทศที่มีมาตรฐานทางกฎหมาย เรื่องนี้คงไม่มีอะไรน่ากังวลมาก เพราะเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะแต่งตั้งข้าราชการที่เหมาะสมในการทำงาน และนายถวิลเคยอยู่ใน ศอฉ.ที่ในปี 53 สลายการชุมนุมจนเสื้อแดงตายเกือบร้อย บาดเจ็บสองพัน นอกจากนั้นนายถวิลขึ้นเวทีการชุมนุมการเมืองฝ่ายตรงข้ามด่ารัฐบาลประจำ ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากการเป็นนายกฯในวันยุบสภา จึงไม่อาจพ้นซ้ำสองได้

ทั้งนี้ ถ้าดูมาตรฐานการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต เช่น (1) การเติมคำว่า อาจ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 กรณีคดีแถลงการณ์ร่วมฯ หรือ (2) เปิดพจนานุกรมหาความหมายคำว่าลูกจ้าง จนนายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ หรือ (3) ตีความคำว่า และ เป็นคำว่า หรือ ในมาตรา 68 แล้วสถาปนาอำนาจของตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ (4) กรณีรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ฝ่าฝืนมาตรา 245(1) และตัดสินการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ เป็นโมฆะเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้นักกฎหมายไม่อาจทำนายผลการวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้ได้ ตลอดเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา เราหาบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องในคดีเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญได้ยากมาก และหลักการที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ละเมิดนั้น ได้สาบสูญไปจากประเทศไทยนานแล้ว ทั้งๆ ที่หลักการนี้ ถูกยึดถือและงอกงามในประเทศยุโรปและประเทศประชาธิปไตยชั้นนำทั่วโลก

"ผมหวังว่ากรณีนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตีความตัดสินสถานภาพนายกฯ อย่างเคร่งครัดและธำรงความยุติธรรมให้กับคนไทย หรือจะตัดสินอย่างอื่นใด ก็ขึ้นอยู่ที่ศาลฯ ว่าจะฉีดน้ำหรือน้ำมันเข้ากองไฟแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกโชนอยู่ในขณะนี้" นายนพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ