เพื่อไทยย้ำหนุนเลือกตั้ง 20 ก.ค.ก่อนเดินหน้าปฏิรูป,จวกข้อเสนอ"อภิสิทธิ์"ไม่จริงใจ

ข่าวการเมือง Tuesday May 6, 2014 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งและความยุติธรรมเท่านั้นคือทางออกของประเทศ โดยระบุว่า พรรคขอย้ำว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.ค. โดยทุกพรรคนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยของตนต่อประชาชน หลังเลือกตั้งทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายรับรององค์กรปฏิรูปฯ เมื่อแผนและแนวทางปฏิรูปแล้วเสร็จ ให้นำไปทำประชามติ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะอยู่ไม่เกิน 12 เดือนเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปฯ จากนั้นจะมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังจากมีแผนและแนวทางปฏิรูปฯ แล้ว

ส่วนข้อเสนอทางออกประเทศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.57 ภายใต้แผนเดินหน้าประเทศไทย “ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" สรุปว่า ขอให้รัฐบาลเลื่อนการตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งออกไป ขอให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจำตำแหน่งเพื่อเปิดทางไปสู่รัฐบาลคนกลาง โดยประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะมาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยใช้เวลา 150-180 วัน ส่วนการเลือกตั้งให้เลื่อนไปสัก 5-6 เดือนนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าข้อเสนอของอภิสิทธิ์ฯ สับสนและไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ ขัดหลักประชาธิปไตย และไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่นายอภิสิทธิ์ฯ กล่าวอ้างไว้เลย

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศเมื่อ 2 ก.พ.57 ไม่ประสบความสำเร็จเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เกิดผลตามที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)ซึ่งเป็นแนวร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ส่งผู้สมัคร และสมาชิกพรรคฯหลายร่วมมือเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น ปัญหาที่ทางออกนี้เดินไม่ได้จึงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองอื่นใด หรือประชาชนโดยทั่วไป

ขณะที่ความพยายามให้มีนายกฯ ตามมาตรา 7 หรือนายกฯ คนกลาง ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และแนวร่วม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การเสนอของนายอภิสิทธิ์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 49 เป็นการสืบทอดแนวคิดทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเสียก่อน

การเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอและเลือกนายกฯ เพราะนายกฯต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเฉพาะประธานสภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ วุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับการเสนอและเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ หากกระทำไปก็จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 68) นอกจากนี้ วุฒิสภาที่ดำรงอยู่ในขณะนี้เป็นวุฒิสภาในระหว่างการยุบสภาผู้แทนฯ จึงมีอำนาจจำกัดมาก ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 132 บัญญัติไว้เท่านั้น

การที่รัฐบาลคนกลางจะไปดำเนินกระบวนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยการทำแผนและทำประชามติ ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ก็ไม่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 165 กำหนดให้มีการปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้นต้องเลือกตั้งจนได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะทำประชามติได้ การให้รอการเลือกตั้งไป 150-180 วัน หรือ 5-6 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้

ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์ต้องการรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไข เพื่อเอื้อข้อเสนอของตนและกปปส. ที่ขัดรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไม่ได้มีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาแต่เพียงผู้เดียว คงต้องหารือกับ กกต. และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ขณะนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การเสนอเช่นนี้จึงไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับที่เคยเสนอเรื่องมาตรา 7 ในปี 49 จนมีพระราชดำรัสไม่ทรงเห็นชอบด้วยมาแล้ว

พรรคยังเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่พรรคประชาธิปัตย์มาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศในช่วงนี้ แต่ตอนที่เป็นรัฐบาลระหว่างปี 51-54 และเป็นฝ่ายค้านระหว่างปี 54-56 ไม่เคยเสนออะไรทำนองนี้เลย มีแต่การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ ไม่ได้ให้ความสำคัญในข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม หรือกระบวนการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรมยิ่งขึ้นแต่อย่างใด และในความเป็นจริง กกต. มีอำนาจเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่แก้ไม่ได้และไม่พยายามแก้คือการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์

"พรรคเพื่อไทยได้วิเคราะห์ให้พี่น้องประชาชนได้เห็นและเข้าใจมาอย่างต่อเนื่องว่า มีกระบวนการสมคบคิดกันระหว่างพรรคการเมืองบางพรรค กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรเพื่อทำรัฐประหารรูปแบบใหม่ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง ใช้อคติ ไม่มีความยุติธรรม เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อสร้างสุญญากาศไปสู่การมีนายกฯที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องจับตาดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างรวดเร็วหรือไม่ จะมีคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศไม่มีรัฐบาล เพื่อปูทางให้วุฒิสภาไปละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งนายกฯ คนกลางต่อไปหรือไม่ กองทัพจะออกมาสนับสนุนกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้หรือไม่ กกต.จะทำตามนายอภิสิทธิ์และกปปส. ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งที่ตนเสนอเองออกไปจนไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่"แถลงการณ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ