(เพิ่มเติม) ศาลรธน.มติเอกฉันท์ให้"ยิ่งลักษณ์"-ครม.ที่มีส่วนโยกย้าย"ถวิล"พ้นหน้าที่

ข่าวการเมือง Wednesday May 7, 2014 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำเอื้อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ดังนั้น บุคคลทั้งหมดตามที่ระบุนั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางต่อคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่าจะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าเมื่อยุบสภาแล้วความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียังคงอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และหากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ก็ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

ประเด็นที่ 2.การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นวาการโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิลถือเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำ เอื้อต่อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมจริยธรรม จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

และ ประเดฺนที่ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิลต้องถือว่ากระทำการโดยมิชอบ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น ศาลฯไม่รับไว้พิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ