(เพิ่มเติม1) ศาลรธน.มติเอกฉันท์ให้"ยิ่งลักษณ์"-9 รมต.ที่มีส่วนย้าย"ถวิล"พ้นหน้าที่

ข่าวการเมือง Wednesday May 7, 2014 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำเอื้อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ดังนั้น บุคคลทั้งหมดตามที่ระบุนั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางต่อคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่าจะสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณานายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าเมื่อยุบสภาแล้วความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียังคงอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และหากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ก็ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

ประเด็นที่ 2.การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นวาการโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิลถือเป็นการกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำ เอื้อต่อพวกพ้อง ขาดคุณธรรมจริยธรรม จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

และ ประเดฺนที่ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงมติโยกย้ายแต่งตั้งนายถวิลต้องถือว่ากระทำการโดยมิชอบ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น ศาลฯไม่รับไว้พิจารณา

ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากหน้าที่ไปตามนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี, นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ