พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์คัดค้านแต่ตั้งนายกรัฐมนตรีนอกรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Thursday May 15, 2014 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภายุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันมีผลเป็นการสนับสนุนข้อเรียกร้องและให้ความช่วยเหลือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) กับพวกโดยทันที ปล่อยให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินการไปภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว โดยสาระของแถลงการณ์มีดังนี้

ข้อแรก พรรคเห็นว่าการดำเนินการของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในการเรียกประชุมวุฒิสภานั้น ไม่อาจกระทำได้ แม้นายสุรชัยฯจะอ้างว่าเป็นการประชุมนอกรอบก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 บัญญัติว่าในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่กรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132 (1) (2) และ (3) ดังนั้นนายสุรชัยฯ จะอาศัยผลการประชุมเพื่อดำเนินการใดๆ มิได้

ข้อ 2. รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เรื่องใดที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา ก็จะมีบัญญัติไว้โดยชัดเจนเช่นกัน กรณีการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 และมาตรา 172 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้ให้อำนาจประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ วุฒิสภาจึงไม่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ข้อ 3. ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญได้กำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจนถึงการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี และขณะเดียวกันก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งว่าต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ารับหน้าที่นั้น ก็ต้องมีที่มาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นกัน กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีก็เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ดังนั้นจึงไม่มีช่องทางใดเลยที่จะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในระหว่างที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

ข้อ 4. ปัญหาวิกฤติของประเทศในขณะนี้ เกิดจากกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส.และผู้เกี่ยวข้อง การไม่ยอมรับในกฎเกณฑ์ กติกาของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยอ้างการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งบังหน้า ทั้งที่ข้อเท็จจริงหากไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปแล้ว การปฏิรูปก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อจะนำไปสู่การได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลชุดใหม่ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

ข้อ 5. การกระทำการใด ๆ ของวุฒิสภาเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้มีรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในระหว่าง ยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามปกติ เว้นแต่มีข้อจำกัดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) ถึง (4) เท่านั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นการดำนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จะอ้างว่านายนิวัฒน์ธำรง ไม่มีอำนาจทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเพื่อหาทางแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นย่อมไม่อาจทำได้โดยเด็ดขาด

ข้อ 6. แม้จะมีการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายจนได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามความต้องการของนายสุเทพ กับพวก ก็ไม่อาจดำเนินการปฏิรูปประเทศได้ เพราะการปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการทางรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายและแก้ไขกฎหมาย เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ และการปฏิรูประเทศก็ต้องได้รับการยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย เมื่อกระบวนการได้มาของนายกรัฐมนตรีไม่ถูกต้องและถูกต่อต้านตั้งแต่แรก ก็ไม่มีหนทางที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศได้ พรรคจึงเห็นว่าข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปนั้นเป็นเพียงฉากหน้าให้ดูดีเท่านั้น แต่เบื้องหลังคือการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น

ข้อ 7. เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหาและถูกออกหมายจับในข้อหากบฏ ซึ่งพนักงานอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้อง และขณะนี้ศาลได้อนุมัติออกหมายจับเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลแล้ว การที่นายสุรชัย ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้กับนายสุเทพ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายของนายสุเทพคือ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ย่อมมีผลเท่ากับนายสุรชัย กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจฝ่ายบริหาร หรือเพื่อให้ใช้อำนาจดังกล่าวมิได้ อันเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดฐานเป็นกบฏเสียเอง หรือสนับสนุนให้นายสุเทพฯกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ

ข้อ 8. เมื่อความพยายามในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถือเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หากยังคงดำเนินการต่อไป ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 เมื่อถึงเวลานั้น หากเกิดอะไรขึ้นนายสุรชัยและสมาชิกวุฒิสภาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบกับการกระทำดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่โดยผิดกฎหมายนั้น ก็จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน ไม่มีทางที่จะบริหารราชการแผ่นดินได้ ปัญหาก็อาจจะรุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ พรรคจึงขอเรียกร้องให้นายสุรชัย และสมาชิกวุฒิสภายุติการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตน และโดยวิธีการที่ผิดรัฐธรรมนูญ

ข้อ 9. พรรคเห็นว่าการที่นายสุรชัย ได้เชิญองค์กรและบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วมหารือโดยอ้างว่าเพื่อหาทางออกของประเทศนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการกระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองที่จะดำเนินการตามแนวทางของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะทางออกของประเทศนั้น มีอยู่เสมอหากทุกฝ่ายปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะอ้างเอาการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อเป็นทางออกของประเทศนั้น จะเป็นการสร้างปัญหาที่ใหญ่หลวงให้กับประเทศมากกว่าที่จะแก้ปัญหา พรรคจึงไม่อาจเข้าร่วมหารือกับนายสุรชัยได้ หากนายสุรชัยจะดำเนินการอะไรไปก็ต้องรับผิดชอบเอาเอง

ข้อ 10. เมื่อการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่อาจกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การจะอาศัยมาตรา 7 หรือมาตราอื่นใดในรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการดังกล่าวก็ย่อมไม่อาจทำได้เช่นกัน และจะใช้กระบวนการกดดันเพื่อบีบบังคับให้คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศนั้นก็ไม่อาจทำได้ เพราะคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมาโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่

ข้อ 11. การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 นั้น พระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัวฯได้เคยทรงมีพระราชดำรัสไว้แล้วว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการมั่ว การที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จะนำเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญไปเสนอทูลเกล้าฯ จึงเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง อันจะทำให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ