ส.ส.ร.หนุนวุฒิสภาเสนอนายกฯคนกลาง ชี้ไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส.

ข่าวการเมือง Thursday May 15, 2014 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ว่าที่ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติการเมืองในขณะนี้

โดยชมรมอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)2550 ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อวุฒิสภาในการแก้ไขวิกฤติชาติ หาทางของประเทศ โดยมีสาระสำคัญว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ เพราะประเทศจะว่างเว้นไม่มีรัฐบาลมาบริหารประเทศไม่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล โดยเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แม้คณะรัฐมนตรีรักษาการจะมอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทนนายกฯ แต่ไม่สามารถทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้

รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย บัดนี้ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว คงเหลือเพียงวุฒิสภาที่จะปฎิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ในสถานการณ์เช่นนี้สมควรที่สถาบันนิติบัญญัติ โดยให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ในนามรัฐสภา สามารถทูลเกล้าฯ เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อองค์พระประมุข และรับสนองพระบรมราชโองการให้นายกรัฐมนตรีตามที่วุฒิสภาได้เสนอ

แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสภาวะยุบสภาฯ จึงไม่มีส.ส.ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสนอบุคคลที่เหมาะสมที่สุดขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในช่วงก่อนปี 2535 ไม่เคยกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น

ด้านนายอภิชาต ดำดี ส.ว.กระบี่ ในฐานะคณะทำงานประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงผลสรุปการหารือระหว่างส.ว.กับกลุ่มปลัดกระทรวงต่างๆ และผู้นำเหล่าทัพว่า ฝ่ายราชการและฝ่ายความมั่นคงเห็นด้วยที่ควรให้มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารราชการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ปกติ แต่มีข้อเน้นย้ำคือการดำเนินงานต้องให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ในขั้นตอนทางกฎหมายมีการชี้แจงและค่อนข้างตกผลึกว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการได้ โดยใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเทียบเคียงคือ มาตรา 132(2) ว่าด้วยวุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เทียบเคียงกับมาตรา 171 และ 172 ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ต้องมีการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ที่ว่าด้วยประเพณีการปกครองมาใช้ประกอบด้วย

โดยผลของการหารือยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป เพราะต้องนำไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาและเสนอแนะความเห็นอีกครั้ง ในแนวทางต่างๆ นั้นจะต้องพิจารณาถึงกรอบการทำงาน ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่และเป้าหมายความสำเร็จ หลักการเบื้องต้นรัฐบาลคนกลางที่ได้มาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ ต้องเป็นผู้วางแผนการปฏิรูปประเทศและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จากนั้นให้มีการเลือกตั้งให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการปฏิรูปประเทศระยะ

อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรที่เข้าร่วมประชุมกับวุฒิสภา ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, เครือข่ายสมัชชาเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย, ชมรมอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)2550, เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ, เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน, เครือข่ายกองทุนการออมแห่งชาติ, กลุ่มเครือข่ายพี่น้องมหิดล และภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ