นักวิชาการ/นักธุรกิจเสนอทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร-แนวทางปฏิรูป

ข่าวการเมือง Sunday May 25, 2014 20:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เสนอมาตรการแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร ซึ่งได้จากการหารือของนักวิชาการและนักธุรกิจภายใต้เครือข่ายติดตามผลกระทบของรัฐประหารทางเศรษฐกิจ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้เร่งรัดการจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของประเทศในด้านต่างๆ 2.ขอให้ดำเนินนโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังผ่อนคลายเพิ่มเติมในขณะนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแม้อัตราเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากนัก 3.ขอให้มีมาตรการรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินและกระแสเงินทุนไหลออกที่จะส่งผลต่อการอ่อนตัวของค่าเงินบาทอย่างรุนแรง 4.ขอให้มีมาตรการในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน และ 5.ขอให้เร่งรัดการปฏิรูปเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกู้ยืมเงินเพื่อชำระเงินหนี้รับจำนำข้าวให้ชาวนา แต่ขอให้เป็นไปตามกฎหมายและกรอบวินัยการเงินการคลัง รวมทั้งหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ และต้องเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังมานาน ซึ่งคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และผู้ตัดสินใจในระดับนโยบายควรยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีและนักการเมือง

สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด และสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ ซึ่งฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ควรใช้โอกาสนี้ศึกษา ทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปหรือไม่ เพราะนโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคาควรนำมาใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำและผันผวนเท่านั้น การฝืนกลไกตลาดนานๆ จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิต และฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายอนุสรณ์ ยังเสนอความเห็นในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร, กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย คือ เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และเกษตรอินทรีย์ทางเลือก, ใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่า, เพิ่มรายได้ด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต, ทยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลงโดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทน, พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร, จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี, ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV, ต้องก้าวข้ามพ้นนโยบายประชานิยมสู่การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม, จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรที่หลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็นครัวของโลก, ทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น

สำหรับการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นต้องจัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปประเทศไทย โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการเฉพาะ, ออก พ.ร.บ.การปฏิรูประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, ผลักดันข้อเสนอที่เป็นฉันทามติจากทุกภาคส่วนเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจเบื้องต้นในระยะเปลี่ยนผ่านต้องครอบคลุมการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดปัญหาการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ด้วยการปฏิรูประบบภาษีและรายได้ภาครัฐ การเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปที่ดินและการถือครองที่ดิน การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การปรับโครงสร้างประชากร การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การปฏิรูปและปรับโครงสร้างงบประมาณ การปรับยุทธศาสตร์ เน้นคุณภาพชีวิต และการพัฒนาแบบยั่งยืน ได้แก่ การปฏิรูปภาษี ทั้งโครงสร้างภาษี อัตราภาษี ฐานภาษี ใช้เครื่องมือภาษีในการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้ดีขึ้น, เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โครงการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทาน, ผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน และปัจจัยการผลิต, การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมโดยใช้กลไกรัฐสวัสดิการร่วมกับสังคมสวัสดิการโดยลดมาตรการนโยบายประชานิยมลง, การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกรผ่านขบวนการสหกรณ์ ทยอยลดมาตรการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคาที่ฝืนกลไกตลาดมากเกินไป เพิ่มความสมดุลของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจไทย, ปรับโครงสร้างประชากรโดยเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อัตราการพึ่งพิงสูงในอนาคต และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วเกินไป, ปรับโครงสร้างการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและลดการใช้พลังงาน และพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้คุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมายของการพัฒนา พัฒนาแบบยั่งยืนโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากนี้ต้องมีวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและสามารถใช้โอกาสความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก หรือศตวรรษแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะของไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายใน 15-20 ปีข้างหน้า

"คสช.ควรรีบประกาศคืนอำนาจให้ประชาชน ประกาศเป้าหมายและเงื่อนเวลาในการจัดการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศและข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย เพราะภายใต้รัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง" นายอนุสรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ