"ประยุทธ์"แจงเหตุรัฐประหาร-โรดแมพประเทศต่อผู้แทนการค้าต่างชาติ

ข่าวการเมือง Thursday June 19, 2014 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผุ้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในระหว่างผู้แทนหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย จาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน และออสเตรเลีย เข้าพบว่า ได้ใช้โอกาสนี้อธิบายถึงนโยบายและเจตนารมณ์ของ คสช.ในการเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเร่งเดินหน้าการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ยั่งยืน ให้เป็นสากล

พร้อมระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการควบคุมและบริหารราชการแผ่นดินว่า ประเทศไทยประสบปัญหาที่ยืดเยื้อติดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารประสบปัญหา ไม่สามารถขับเคลื่อนและบริหารประเทศไปตามระบบได้ ประชาชนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระบบบริหารราชการแผ่นดิน กลไกของรัฐหยุดชะงัก อีกทั้งคู่ขัดแย้งจากภาคส่วนต่างๆไม่สามารถบรรลุความตกลงหรือหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งหากปล่อยให้สภาพนี้ดำเนินต่อไปจะเกิดความเสียหายต่อต่างประเทศ รวมทั้งอาจเกิดจราจลในประเทศ เพราะสภาพสังคมขาดความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งมีการใช้อาวุธสงคราม ทั้งนี้ จากความขัดแย้งของมวลชน ทั้งมวลชนฝั่งรัฐบาล และมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งหากมีการเลือกตั้งก็ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จด้วยดีได้ เพราะฝ่ายต่อต้านก็จะไม่ยอมรับ ดังนั้น คสช.จึงต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์และเร่งแก้ปัญหา รวมทั้งขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ได้ชี้แจงผู้แทนหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย ถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ หรือ Roadmap ของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ในช่วงเวลา 3 เดือน คสช.จะบริหารแทนรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เช่น การจ่ายเงินแก่ชาวนา ซึ่งรัฐบาลรักษาการณ์ในขณะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมาย หรือการจับกุมสิ่งผิดกฎหมายและอาวุธสงคราม การแก้ปัญหายาเสพติด การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ในทุกระดับ รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก รวมทั้งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้เสร็จสิ้น ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จะมีการจัดตั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลจะใช้เวลาบริหารประเทศประมาณ 1 ปี ควบคู่ไปกับการปฏิรูป และการแก้ปัญหาคั่งค้างที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในระยะที่ 3

นอกจากนี้ ได้สรุปภาพรวมผลการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาว่า สามารถคืนความสงบสุขให้แก่ประเทศ และประชาชน สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นตามลำดับ เศรษฐกิจมีการพัฒนากว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ขอยืนยันว่า การเรียกบุคคลรายงานตัวนั้นมีจุดประสงค์เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการควบคุมหรือกักขัง นอกจากนี้ในช่วงนี้ คสช.ได้เร่งสร้างความพร้อมประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 การขับเคลื่อนและการสนับสนุนการลงทุนที่มีการหยุดชะงักไป รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และมีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 18 โครงการเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน เพื่อความสร้างความมั่นคง ปลอดภัยแก่ประชาชน การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าต่างๆที่คั่งค้าง เช่น FTA RCEP การเร่งขยายความร่วมมือในกรอบต่างๆ เช่น อาเซียน EU ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมกัน เพราะ คสช.ตระหนักดีว่าประเทศไทยไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ จึงตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ บนพื้นฐานการไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม พร้อมขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทย ว่าประเทศไทยยังคงสนับสนุนและส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่การต่อยอดและการเพิ่มมูลค่าการลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า คสช.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมทั้งความมั่งคง ปลอดภัยของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเป็นสากล ทั้งนี้ คสช. ยินดีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปจากทุกประเทศผ่านช่องทางต่างๆของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์

ในโอกาสนี้ผู้แทนหอการค้าได้แสดงความขอบคุณหัวหน้า คสช. ที่ได้เปิดโอกาสให้ได้รับฟังข้อมูล และความมุ่งมั่นตั้งใจของ คสช.ในการแก้ปัญหาของประเทศและยังคงส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเชื่อว่าการดำเนิการของ คสช.ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ