(เพิ่มเติม) ที่ปรึกษาคสช.แจงเนื้อหารธน.ชั่วคราวกำหนดกรอบ 1 ปีนำไปสู่การเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Wednesday July 23, 2014 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงชี้แจงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยระบุว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.57 เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่แผน Road Map ในขั้นตอนที่ 2 ตามที่คสช.กำหนดไว้ โดยคาดว่าภายใน 1 ปีจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ค้างคาและความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง เพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. กล่าวว่า การเริ่มต้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ถือว่าเข้าสู่ Road Map ในขั้นที่ 2 โดยคาดว่าจากนี้ไปในระยะเวลาบวกลบประมาณ 1 ปี จะเป็นช่วงของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือฉบับที่ 20 ให้เกิดขึ้นในอีกไม่นานนับจากนี้ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ของ Road Map คสช.

"เชื่อว่าเวลา 1 ปีนับจากนี้ จะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ค้างคา และที่เป็นชนวนความขัดแย้งได้เป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง" นายวิษณุ กล่าว พร้อมระบุว่า เพื่อไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาเกิดความสูญเปล่านั้น จึงเป็นสาเหตุให้กฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับที่ 19 นี้จำเป็นจะต้องมีการวางหลักการที่เข้มงวดมากขึ้น

ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คสช.ที่ยังคงอยู่ต่อไป ตามมาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า คสช.จะมีอำนาจหน้าที่ในการแบ่งเบาภาระด้านความมั่นคงให้แก่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไม่กังวลกับปัญหาที่อาจจะแทรกเข้ามาในช่วงระยะ 1 ปีจากนี้ แต่หากเกิดสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างมาก คสช.ก็มีหน้าที่ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 46 ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจที่นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ยืนยันว่า คสช.ไม่มีอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี และ คสช.ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คสช.จะยังทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จะทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับหน้าที่ต่อ

"ที่สื่อไปพาดหัวว่า คสช.มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้นไม่เป็นความจริง มีแต่เพียงอำนาจพิเศษตามมาตร 46 คือ ในกรณีจำเป็น ถ้าจะต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรร ไม่ใช่ใช้เพื่อการกำหราบปราบปรามอย่างเดียว คสช.อาจจะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้ อำนาจนี้คงไม่ได้ใช้บ่อยๆ หรือพร่ำเพรื่อ คณะที่ยึดอำนาจในอดีตมีอำนาจนี้ทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่ได้ปรากฎว่าได้ใช้ทุกยุคทุกสมัย และใช้ในยามที่ไม่อาจใช้ในกระบวนการปกติได้เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้ในวิธีการอื่นใดนอกรัฐธรรมนูญได้อีก ที่สำคัญคือใช้เพื่อการสร้างสรร และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่ ครม.เองอาจใช้ลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย" นายวิษณุ กล่าว

ที่ปรึกษา คสช.ยังกล่าวด้วยว่า กรณีไม่มีเรื่องใดที่อยู่ในบทบัญญัติทั้ง 48 มาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพิ่มเติมรายละเอียดที่สำคัญลงไปเพื่อป้องกันปัญหาการตีความในเรื่องของกรณีการเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่นั้น จึงได้ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำได้ก็จึงค่อยดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ