เพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้อง สปช.คว่ำร่าง รธน.ระบุไม่เป็นประชาธิปไตย

ข่าวการเมือง Wednesday September 2, 2015 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ร่วมกันแถลงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 กันยายน 2558 ควรแสดงความรับผิดชอบและแสดงบทบาทในวาระสำคัญด้วยวิจารณญาณที่ปรารถนาจะเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อระงับยับยั้งมิให้ประเทศก้าวไปสู่วิกฤต โดยการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายสามารถที่จะยอมรับได้

หากสปช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าปัญหารัฐธรรมนูญที่พยายามจะยัดเยียดให้ประชาชนโดยขาดการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะร่วมคิดหรือร่วมร่าง จะเป็นต้นเหตุของการนำชาติเข้าสู่ภาวะแห่งความขัดแย้ง นำชาติดำดิ่งสู่วงจรอุบาทว์ รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลต่อความเชื่อถือของประเทศในสังคมโลก ในที่สุดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ

นายสามารถ กล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความคิดเห็นของสมาชิกและวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นฉบับกดหัวประชาชน เนื่องจากเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มิได้ให้ความเคารพในอำนาจของประชาชน อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ได้สร้างกลไกเพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจและไร้การตรวจสอบ ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส เป็นการทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือและตกผลึกทางความคิดโดยการยอมรับจากประชาชนแล้ว หากผลของร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ บริหารประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งตกต่ำ และจะนำพาประเทศไปสู่ความขัดแย้งในทุกระดับ ยากที่จะกลับคืนสู่สันติสุขได้ เป็นที่น่าห่วงใยว่าประเทศชาติจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่สิ้นสุด

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นโดยสุจริต ทั้งจากพรรคการเมือง นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเนื้อหาที่นำพาประเทศถอยหลังไปจากเดิมจนเป็นการย้อนยุค มีลักษณะเป็นการสืบทอดอำนาจ สร้างรัฐซ้อนรัฐ อำนาจของประชาชนถูกเหยียบย่ำ จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะผ่านความเห็นชอบของ สปช. ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านประชามติจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจต้องสูญเปล่าทั้งในแง่ของกระบวนการยกร่างและงบประมาณแผ่นดินที่ต้องนำมาใช้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาทในการยกร่างและจัดทำประชามติ

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ควรมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ถือเป็นการส่งสัญญาณต่อ สปช.ในการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายสามารถ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะคนไทยคนหนึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ถือเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ในฐานะและตำแหน่งนายกฯ เมื่อพูดแล้วอาจชี้นำได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ