นายกฯ พร้อมเปิดกว้างนักการเมืองร่วมวง กรธ.-สภาขับเคลื่อน แนะเสนอชื่อมา

ข่าวการเมือง Friday September 11, 2015 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า เตรียมมอบนโยบายในการคัดเลือกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศในอีก 1-2 วันนี้ พร้อมพิจารณาโควต้านักการเมือง หากมีการเสนอชื่อมา
"ได้วางแผนและวางแนวทางไว้แล้ว ซึ่งจะดำเนินการตามที่กำหนดไว้ โดยจะนำแนวทางไปหารือกับ ครม.และ คสช. อีก 1-2 วันนี้จะมอบนโยบายนำไปสู่การปฎิบัติ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนจะมีการเพิ่มโควต้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นนักการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากใครจะเสนอชื่อก็จะรับไว้พิจารณา แต่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม หากไม่เข้ามาร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นก็อย่ามาวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลัง เพราะที่ผ่านมาสภาปฎิรูปแห่งชาติและประชาชนได้ร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และมองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยอย่างเดียว ปัญหาแบบเดิมๆ ก็จะกลับมาแล้วปัญหาบ้านเมืองจะจบลงอย่างไร

"ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะต้องมีสิ่งทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันให้กับประชาชน และสร้างความมั่นใจว่าต่อไปจะไม่มีคนที่เข้ามาทำหน้าที่แบบผม แต่ท้ายสุดแล้วประเทศก็ต้องอยู่ที่ประชาชนทุกคนเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ เช่นเดียวกับผมที่มีอำนาจมีสิทธิเท่าเทียมประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ขอนักการเมืองอย่าออกมาต่อต้านการทำงานของรัฐบาล และหากจะอ้างเหตุผลความไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องย้ำว่าตนเองไม่เคยบิดเบือนประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเข้ามาวันนี้ก็เพื่อต้องการสร้างความเข้มแข็งและวางฐานให้กับประชาธิปไตยให้ยั่งยืน รวมถึงสร้างความพร้อมให้กับประชาชน

สำหรับแนวคิดการตั้งกระทรวงความมั่นคงของสภาความมั่นคงนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการเสนอมาถึงตนเอง แต่คาดว่าเป็นเรื่องที่ยังหารือกันภายในฝ่ายความมั่นคงว่าจะมีการปรับโครงสร้างอย่างไร ปัญหายังอยู่ที่ตำรวจ ซึ่งต้องการทำงานร่วมกับทหาร ต้องไปดูว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนการปฎิรูปนั้นจะทำให้เป็นเหมือนต่างประเทศเลยก็คงทำได้ยากเพราะกฎหมายประเทศเราเป็นแบบนี้ คงต้องมีการพัฒนากันก่อน ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้ปฎิบัติหน้าที่ ประชาชน และระดับนโยบาย จะให้ปรับโครงสร้างอย่างเดียวคงไม่ได้ต้องทำหลายด้านควบคู่กันด้วย ที่ผ่านมามีความไม่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายความมั่นคงมีความอึดอัดในการสั่งการ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการบูรณาการให้ทำงานร่วมกัน

ในส่วนของหน่วยข่าวกรองมีการทำงานแบบบูรณาการอยู่แล้วมีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน มีการทำประชาคมข่าวกรอง การทำงานของหน่วยข่าวมีความซับซอน แต่สิ่งสำคัญกว่าการข่าวคือการเฝ้าระวังของทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์และการเฝ้าระวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ