(เพิ่มเติม1) "ประยุทธ์"ประเมินเดินตามโรดแมพเลือกตั้งได้ราวก.ค.60 ยันไม่ขอเป็นนายกฯคนนอก

ข่าวการเมือง Wednesday September 16, 2015 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คาดว่าหากทุกอย่างเดินไปตามโรดแมพจะสามารถเลือกตั้งได้ราวเดือนก.ค. 60 ซึ่งเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีประเมินไว้ ส่วนจะเร็วกว่านั้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
"ก็นับไป 20 เดือน เขากำหนดไว้แล้ว กรกฎาคม 2560 ถ้ามันเร็วกว่านั้นได้ในการตัดทอนแต่ละขั้น ลดไปได้อย่างละครึ่งเดือนบ้าง รวมกันกี่เดือนผมก็ไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้พูดคุยและสัมภาษณ์ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 หลังเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้สำหรับความเป็นไปได้ในการเลื่อนระยะเวลาโรดแมพ 20 เดือนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นสิ่งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีประเมินให้ฟังในฐานะนักกฎหมาย ตนคงไม่สามารถพูดแทนได้ และไม่ใช่ตนเองไปสั่งได้ แต่ถ้าประเด็นรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ไม่อยากให้ประชานต้องมาเบื่อตนเอง หากต้องทำงานไปอีก 20 เดือน เพราะทุกวันนี้ก็เบื่อตัวเองอยู่แล้ว และอยากให้มองว่าวันเวลาที่อยู่วันนี้คุ้มกับที่อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม โควตาสัดส่วนสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ(สปท.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปรับอยู่ทุกวัน ส่วนชื่อประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตอนนี้ยังไม่มี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้นักการเมืองหน้าเดิมกลับมาจะทำอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะให้ทำอย่างไร เพราะอำนาจเป็นของทุกคนในการเลือกตั้ง ส่วนทหารจะเข้ามาอีกในอนาคตหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยน โลกล้อมประเทศอยู่ใครจะเข้ามาก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากเกิดสถานการณ์เหมือนเดิมอีกก็ไม่เกี่ยว เรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคน ไม่ต้องมากลัวนายกรัฐมนตรีคนนอก ตนคงไม่เป็นแน่นอน ขณะเดียวกันหากมีประชาชนเรียกร้อง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะผมรู้ทำอะไรได้แค่ไหน ฉะนั้นถ้าทำสำเสร็จมันก็จบในช่วงเวลาที่ตนอยู่ แต่ถ้าทำไม่เสร็จก็หาคนมาทำใหม่

ทั้งนี้ในระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า งานที่ยังติดขัดคือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการค้าขายในปัจจุบันต้องผูกพันกับต่างประเทศ และสิ่งท้าทายคือต้องปรับปรุงสินค้าใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือและเพิ่มแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการไปเชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่า ตนเองไปบอกว่าให้มาทำงานเพื่อประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง หรือ คสช. ก่อนที่ตนเองจะสร้างความไว้วางใจกับประชาชนก็ต้องสร้างความไว้วางใจกับพี่ๆ ที่มาร่วมงานก่อน อธิบายให้ฟังว่าเข้ามาเพื่ออะไร จำเป็นต้องมีทหารอยู่เพื่ออะไร เพราะบางกระทรวงต้องเร่งงาน วันนี้จึงต้องปรับวิถีการทำงานของข้าราชการให้บูรณาการมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่ากระทรวงหลักๆ ต้องให้ทหารลงไป ส่วนกระทรวงที่ต้องเร่งรัดด้านเศรษฐกิจก็ต้องให้นายสมคิดไปช่วยดูแล

ส่วนกรณีการปล่อยตัวกลุ่มนักการเมืองหลัง คสช.ควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้สัญญาอะไรก็ต้องทำตามสัญญากันบ้าง เขาบริหารราชการมาด้วยกัน แล้ววันนี้ประเทศชาติมีปัญหา เขาก็ต้องมีเวลาไปแก้ปัญหาในช่วงเวลาของเขา วันนี้ไม่ใช่เวลาของเขา ไม่ใช่วันที่เลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งชนะก็เข้ามา แล้วจะมาพูดทำนองให้ร้ายรัฐบาลไม่ได้ เพราะตนเองไม่ห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ห่วงว่าประชาชนจะตื่นตระหนกอีก

สำหรับการเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ หัวข้อที่เตรียมไปพูดนั้นทางยูเอ็นกำหนดไว้ 4-5 หัวข้อ แต่ตนเองได้เลือก 2 หัวข้อที่ตรงกับสถานการณ์ของประเทศไทย คือ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และความยั่งยืน ซึ่งหัวข้อเรื่องความยั่งยืน 15 ปีก็พูดในวาระของยูเอ็น ในห้วง 2015 เป็นต้นไป 15 ปี ใน 4 เสาหลัก ซึ่งตนเองจะพูดในนามของประชาคม พูดประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราไปในนามของเวทีโลก

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวและถ่ายทอดคำพูดของตนเองจนหมด แต่ติดใจกับนักเขียนบางคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ยังเขียนโจมตีรัฐบาลอยู่ โดยขออย่าติการทำงานของรัฐบาลทั้งหมด อยากให้ดูในภาพรวมถึงสิ่งที่ทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประเทศซึ่งก็มีอยู่มาก ที่จะต้องหากทางออกร่วมกัน ทั้งด้านพลังงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ