นายกฯ ย้ำเอาผิดขรก.-จนท.เอี่ยวค้ามนุษย์ เตรียมออกเป็นระเบียบใช้บังคับ

ข่าวการเมือง Friday September 18, 2015 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ครั้งที่ 1/2558 เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่อง โดยกล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย เพราะจะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งยอมรับเราเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องสร้างการรับรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนดีขึ้น รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้ที่จะไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

วันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และได้ขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก ทุ่มเทด้วยความภาคภูมิใจ ขอให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป เพราะการทำงานเรื่องนี้ได้เห็นแล้วว่ามีความก้าวหน้าตามลำดับ เรื่องใดมีปัญหาติดขัดก็เสนอให้รองนายกรัฐมนตรีทราบ อะไรที่สามารถช่วยได้ก็ยินดี เพราะทุกอย่างถือเป็นผลงานก่อนเกษียณอายุของหลายคนด้วย ทั้ง พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ในส่วนของการกวาดล้างและลงโทษผู้กระทำผิดนั้น ทุกส่วนราชการต้องดูแลจริงจัง ต้องไม่เข้าข้างผู้กระทำความผิด ทุกเรื่องที่มีปัญหาเพราะไม่ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่อยากให้ทำงานด้วยความสงสาร แต่ต้องช่วยกันดูว่าจะทำยังไงให้ประเทศชาติดีขึ้น โดยย้ำว่าอย่าเข้าข้างผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็น ผู้มีอิทธิพลหรือข้าราชการใดๆ ก็ตาม รวมทั้งการแก้ปัญหาแรงงานทาสในภาคประมงด้วย ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว

ขณะที่นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ในคดีต่างๆ การป้องกันและคุ้มครองผู้เสียหาย รวมทั้งการประสานความร่วมมือกันนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และการแก้ไขกฎหมาย

ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ปีพ.ศ. 2558 โดยระเบียบดังกล่าวจะมีการออกข้อกำหนด ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการป้องกันไม้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ บุคลากรที่เป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนสนับสนุน ทำให้เกิดหรือเพิกเฉยการกระทำที่ให้เกิดการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่กระทำการดังกล่าวก็จะต้องเข้าสู่คณะกรรมการในการตรวจพิจารณาในการใช้อำนาจทางการบริหารเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวจะมีการดำเนินการตามกฎหมายแนบท้ายไปด้วย

"นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างว่าการที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหา หรือคนที่ถูกกล่าวหา โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไปแสดงตน ใช้อำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งของตนเองเป็นประกัน ถือว่าเป็นการปกป้องหรือแสดงการคุ้มครอง ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ การช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ว่ากรณีใดๆ รวมทั้งการแสดงตนต่างๆ ในการใช้อำนาจหน้าที่ของข้าราชการไม่สามารถทำได้" นายวิเชียร กล่าว

โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการ และจะมีการดำเนินการในรายละเอียดก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีกำชับว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ซึ่งถือเป็นรายงานประจำปีที่จะรายงานให้ ครม.รับทราบถึงผลสำเร็จต่างๆ รวมทั้งจะต้องนำรายงานส่งประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าประเทศใดมีสถานการณ์การค้ามนุษย์ขนาดไหนอย่างไร หรือทริปรีพอร์ต ซึ่งประเด็นสำคัญที่ประชุมฯ ได้พิจารณากรอบเวลาว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จเรียบร้อยทันกำหนดเวลา โดยมีการเสนอว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 25 ธ.ค.58 แต่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 15 ต.ค.58 และควรจัดทำร่างรายงานที่สมบูรณ์ภายในวันที่ 15 พ.ย.58 ซึ่งนอกจากกรอบเวลาแล้วที่ประชุมฯ ยังพูดถึงว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้างที่จะเข้ามาพิจารณา

"รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเอกสารรายงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสรุปผลปฏิบัติการทำงานและความก้าวหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและย้ำว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถือว่าต้องรับผิดชอบร่วมกันไม่ใช่มอบให้ใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันและต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์ รวมทั้งได้กำชับและสั่งการในตอนท้ายว่า ผู้ที่รับผิดชอบต้องไปกำกับดูแลกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับผิดชอบในแต่ละด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำด้วยว่าเรื่องสำคัญในคดีสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ให้ติดตาม เร่งรัดให้เป็นผลสัมฤทธิ์ ในส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดำเนินการเรื่องการจัดหาแรงงานที่ถูกต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะด้านประมง" นายวิเชียร กล่าว

ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเข้ามาและลักลอบใช้บริการทางเพศจากเด็กนั้น นายวิเชียร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดำเนินการแก้ไขให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ รวมทั้งสื่อลามกอนาจารต่างๆ และยังได้กำชับในเรื่องการคุ้มครองผู้เสียหายที่จะเป็นพยานในคดี พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลปกป้องให้เป็นพยานได้อย่างปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

และในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีให้นโยบายอีกครั้งว่า การทำงานจะสัมฤทธิ์ผลได้ การแก้ค้ามนุษย์ไม่ใช่แค่ต้องการให้หลุดเทียร์ 3 อย่างเดียว หรือทำให้ปัญหาหมดไปโดยเน้นการดำเนินคดีอย่างเดียว แต่ต้องการไม่ให้มีปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะตามหลักมนุษยชนแล้ว มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ