"วิษณุ" รับทาบ "มีชัย" นั่งประธานกรธ.แล้ว แต่ขอเวลาตัดสินใจ

ข่าวการเมือง Thursday September 24, 2015 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับได้ทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)แล้ว ซึ่งนายมีชัยขอใช้เวลาในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสหรัฐอเมริกาพิจารณาก่อนว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพและไม่อยากเข้ามาอยู่ในความวุ่นวาย แต่หากนายมีชัยไม่รับตำแหน่งดังกล่าวก็ได้วางตัวบุคคลไว้แทนแล้ว ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเช่นกัน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ส่วนรายชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเตรียมไว้พร้อมเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศทันที

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไขของข้อกฎหมายหากนายมีชัยเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิก คสช. ส่วนสังคมจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะที่ผ่านมานายมีชัยก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คสช.เลย ส่วนการทาบทามบุคคลเข้ามาเป็น กรธ.นั้นขณะนี้ได้ติดต่อไว้แล้วมากกว่า 20 คน แต่บางคนยังมีเงื่อนไขต่างๆ อยู่ เช่น หลายคนถามว่าใครจะมาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงขอตรวจสอบเรื่องของคุณสมบัติก่อน และเรื่องเวลาในการเข้ามาทำหน้าที่ ทั้งนี้ยอมรับว่าได้ทาบทามนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมหลายคน อาทิ นายเจตน์ โทณะวณิก ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ก็ต้องพิจารณาทั้งความรู้และประสบการณ์ควบคู่กัน

ส่วนข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเห็นว่าการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่ได้ช่วยให้เกิดการปรองดองนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถือเป็นข้อเสนอหนึ่ง เชื่อว่าคนที่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับทราบแล้ว และคงนำไปพิจารณาว่าจะผ่อนคลายได้อย่างไรหรือไม่ ซึ่งตนเองได้พูดมาตลอดว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ก็ต้องค่อยๆผ่อนความตึงเครียดลง เพื่อสนับสนุนให้มีบรรยากาศของการพูดจา และการปรองดองตามมาด้วย

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคณะทำงานวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ว่า คณะทำงานชุดดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องอื่น ทำหน้าที่เพียงวิเคราะห์รัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นคณะทำงานที่จะวิเคาระห์ข้อมูลเพื่อไว้แก้ไขว่าฉบับที่ร่างไม่ผ่านนั้นมีปัญหาอะไรบ้างและเพื่อเป็นประโยชน์ภายใน บางเรื่องเป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางนิติศาสตร์ และปัญหาทางด้านความรู้สึก

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่เรียบร้อยดีแม้รัฐบาลจะเข้ามาบริหารงานกว่า 1 ปีแล้วว่า เรื่องนี้ต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย หากรัฐบาลดำเนินการเพียงข้างเดียวก็ไม่สำเร็จ และต้องทำความเข้าใจว่าบรรยากาศขณะนี้ไม่ปกติ อยู่ระหว่างที่ยังไม่สามารถให้สิทธิเสรีภาพได้ทั้งหมด ซึ่งต้องเห็นใจฝ่ายที่ยึดอำนาจเข้ามาว่ายังต้องการเวลาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยอยู่ในช่วงโรดแมปช่วงที่ 2 แต่เชื่อว่ารัฐบาลและทุกคนอยากเห็นบรรยากาศของความสงบเรียบร้อย ซึ่งความกดดันและความไม่ผ่อนคลายนั้นมาจากหลายฝ่าย ซึ่งต้องมีความพยายามพูดจากัน การแสดงความเห็นสามารถทำได้ แต่ทุกคนต้องมีความระงับยับยั้งและไม่ยั่วยุมากเกินไป

ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำข้าวที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการดำเนินการกับฝ่ายที่ออกนโยบายก่อนที่จะดำเนินการกับผู้ที่กระทำผิดนั้น เพราะเป็นคนละข้อหาและคนละส่วนกัน เพราะการดำเนินการถอดถอนถือเป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนการฟ้องดำเนินคดีก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งทราบข้อมูลว่า เรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ดำเนินการพิจารณาถอดถอนนั้น เป็นคนละข้อหาที่มีการส่งฟ้องศาล และไม่รู้ว่า ป.ป.ช.มีการฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมากี่คดี แต่การดำเนินการจะเป็นไปตามขั้นตอน อีกทั้งต้องพิจารณาตามอายุความ เพราะแต่ละคดีมีอายุความไม่เท่ากัน ซึ่งคดีใดที่จะหมดอายุความก่อนก็ต้องเร่งดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ