"วิษณุ"ยันพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดฯ มีผลถึงขรก.การเมืองแม้พ้นตำแหน่ง,ทนายฯค้าน

ข่าวการเมือง Wednesday October 14, 2015 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ชี้แจงถึงกรณีทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือโต้แย้งการพิจารณาคดีเรียกค่าเสียโครงการรับจำนำข้าวว่าไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับข้าราชการที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ว่า ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 สามารถทำได้ พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่าเมื่อมีการสรุปผลของคณะอนุกรรมการทั้งจากกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ส่งให้กับคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง และเมื่อมีผลสรุปออกมา นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลงนาม เพราะพระราชบัญญัติได้กำหนดไว้ว่าข้าราชการคนใดที่ถูกดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองให้รัฐมนตรีต้นสังกัดในปัจจุบันเป็นผู้ลงนาม

แต่หากข้าราชการการเมืองที่ไม่สังกัดหน่วยงานใด เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามได้ โดยยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นการปกป้องนายกรัฐมนตรี และย้ำว่าหากรัฐบาลนี้ไม่ดำเนินการ ในอนาคตจะต้องตกกลายเป็นจำเลยและถูกดำเนินการฟ้องร้องได้

"พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 5 เขียนว่า ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิดไม่อยู่ในสังกัดหน่วยงานใด ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ นี้คือตัวอย่างว่าทำไมคดีอดีตนายกฯ ต้องไปที่กระทรวงคลัง แต่ที่นายกฯ เกี่ยวข้องตอนแรก เพราะต้องสอบข้อเท็จจริง นายกฯต้องลงไปทุกระดับ แม้กระทั่งชุดคณะกรรมการกระทรวงพาณิชย์ สุดที่ฝ่ายบริหารหลังจากนั้นก็ไปฝ่ายตุลาการ...เราได้ประชุมกันชัดแล้วว่านายกฯ จะเซ็นก็ได้ไม่เซ็นก็ได้ ไม่ใช่เป็นการพยายามกันออกมา มีชัดเจนเรื่องนี้เกือบครึ่งเดือนแล้ว ซึ่งเมื่อวานในที่ประชุมครม.ก็พูดอย่างนั้น"นายวิษณุ กล่าว

พร้อมระบุว่า หากอดีตนายกรัฐมนตรีมีความเห็นโต้แย้งสามารถฟ้องร้องมาทางศาลปกครองได้ ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนี้ ยังระบุถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้(13 ต.ค.)ว่า ได้รายงานการสรุปคดีความที่มีความสำคัญทั้งหมด 12 คดี แบ่งเป็นคดีที่รัฐฟ้องและเตรียมฟ้องเอกชน 6 คดี และเป็นคดีที่เอกชนฟ้อง และเตรียมฟ้องรัฐอีก 6 คดี ซึ่งพิจารณาจากคดีที่มีค่าเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ และเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา เพื่อให้รัฐมนตรีที่เข้ามารับหน้าที่ใหม่ได้รับทราบข้อมูล เพราะตลอดการทำงาน 1 ปีของรัฐบาลยังไม่มีการรายงานสรุปคดีในลักษณะนี้ ดังนั้น เพื่อให้ทุกฝ่ายดำเนินการในภาพรวมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐเท่านั้น

ขณะที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า ข้ออ้างของนายวิษณุที่ระบุว่าไม่มีทางเลือกอื่นนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคสอง ที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และเรียกร้องค่าเสียหาย หากมีค่าเสียหายตามที่นายวิษณุ อ้างนั้น ไม่ได้ระบุให้ใช้กฎหมายใดเรียกค่าเสียหาย และแม้จะใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ก็มิใช่ไม่มีทางเลือกอื่น

"เพราะคดีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาทที่นายวิษณุ นำมาอ้างเป็นบรรทัดฐานนั้น ความจริงแล้ว คดีดังกล่าวเมื่อสอบสวนเสร็จ ธปท.ได้ยื่นฟ้องนายเริงชัยต่อศาลยุติธรรม ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาแทนการออกคำสั่งทางปกครอง

คดีนายเริงชัย ที่นายวิษณุ ยกมาเป็นข้ออ้างเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐาน มีข้อโต้แย้งของคู่ความในคดีเรื่องเขตอำนาจของศาลภายหลังธปท.ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม ปรากฏว่าศาลแพ่ง และศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยว่าคดีที่ธปท.ในฐานะหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในฐานความผิดเรื่องละเมิดเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

นายนรวิชญ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่ควรใช้ทางเลือกที่นายวิษณุ เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองนั้น เป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการสาธารณะที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ไม่ใช่ผู้สั่งการทำงานโดยตรง จึงไม่สมควรใช้วิธีการที่ให้ พลเอกประยุทธ์ ออกคำสั่งทางปกครอง

ส่วนการจะเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นเดียวกันกับคดีนายเริงชัย เพราะเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังหน่วยงานของรัฐกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในข้อกฎหมายเดียวกัน จึงต้องถือว่าเป็นคดีในลักษณะเดียวกันกับนายเริงชัยที่คดีอยู่เขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง รัฐบาลจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครองได้ นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากเป็นประธาน กขช.ในสมัยนี้ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว จึงไม่ควรเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองในกรณีดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ