"มีชัย"เชื่อระบบเลือกตั้งส.ส.แบบใหม่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมากขึ้น

ข่าวการเมือง Thursday October 29, 2015 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงชี้แจงกรณีการกำหนดระบบเลือกตั้งส.ส.แบบใหม่ว่า การนำระบบเลือกตั้งที่คำนวณคะแนน ส.ส.เขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เป็นความต้องการของกรธ.ที่อยากให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมีความหมาย โดยเฉพาะการให้คะแนนของผู้สมัครส.ส.ระบบเขตที่แพ้เลือกตั้งไปคำนวณหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ
"ด้วยวิธีนี้ ทุกคะแนนจะมีความหมายหมด มีคนพูดว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้พรรคทั้งพรรคอ่อนแอ แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น เพราะทั้งพรรคและคนที่ไปลงสมัครจะต้องไปด้วยกัน ที่สำคัญ คือเสียงที่เคยพูดกันว่าพรรคเราได้รับความนิยมมาก ส่งคนขับรถหรือเสาโทรเลขไปลงสมัครก็ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งนี้ เราก็จะไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้อีก เพราะพรรคต้องพิจารณาส่งคนสมัครเลือกตั้งด้วยความรอบคอบ" นายมีชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า นอกจากนี้ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยนั่งอยู่เฉยๆ ต้องลงมาช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครส.ส.เขตด้วย เนื่องจากทุกคะแนนที่ได้มาจะมีผลต่อการได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ เหนืออื่นใดจะไม่เกิดสภาพที่ภาคแต่ละภาคของประเทศไทยเป็นของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะในที่สุดคะแนนของพรรคอันดับ 2 ลงมาจะได้มีโอกาสได้ส.ส.เหมือนกัน จึงคิดว่าพรรคแต่ละพรรคไม่น่าจะได้เปรียบหรือเสียบเปรียบ

"การคิดของกรธ.ไม่ได้อยู่บนฐานที่ว่าพรรคการเมืองใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชน เพราะการเลือกตั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่จะไปสร้างคะแนนความนิยมกับประชาชน" นายมีชัย กล่าว

สำหรับกรณีการกำหนดให้ผู้สมัครส.ส.ไม่มีสิทธิได้รับการสมัครเลือกตั้งอีก จากกรณีที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโนนั้น นายมีชัย ยืนยันว่าไม่มีการกำหนดให้ผู้สมัครที่แพ้โหวตโนถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต เป็นกระบวนการบิดเบือนของคนที่ออกมาพูด เพราะต้องการทำให้ดูร้ายแรง ซึ่งแนวคิดในเรื่องนี้ของกรธ. คือ เมื่อประชาชนออกไปลงคะแนนโหวตโนย่อมหมายความว่าประชาชนเห็นว่าพรรคทุกพรรคที่คนลงสมัครนั้นไม่ได้เรื่องสักคน ซึ่งแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้

"เราต้องยอมรับเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย กรธ.เลยมาคิดว่า คนที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าโหวตโน แต่ถ้าได้น้อยกว่าโหวตโน กรธ.ยังไม่ตัดสินว่าจะให้มีสิทธิลงสมัครอีกหรือไม่ เสียงหนึ่งบอกว่าไม่ควรแล้วเพราะประชาชนได้ปฏิเสธ ควรจะหยุดเอาไว้ก่อน แล้วกลับไปทำความดีและคราวหน้าเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อไหรถึงค่อยกลับมาลงสมัคร อีกข้างหนึ่งบอกว่าควรให้โอกาสก่อน แต่ถ้าแพ้โหวตโนอีกถึงจะถูกตัดสิทธิ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้เป็นข้อยุติ แต่ยืนยันว่าไม่เคยคิดว่าจะตัดสิทธิตลอดชีวิต เพราะกรณีนี้ไม่ได้เป็นการทำผิดอะไร เป็นเพียงการที่ประชาชนไม่ชอบคนนี้ ซึ่งสักวันหนึ่งประชาชนอาจจะชอบก็ได้" นายมีชัย กล่าว

ประธานกรธ. กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เป็นคนกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ซึ่งคิดว่ามีประชาชนประมาณ 99% ที่เห็นด้วย อีก1%ที่เหลือน่าจะเป็นคนที่ทุจริตเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

สำหรับระบบเลือกตั้งส.ส.แบบใหม่จะมีอะไรเป็นหลักประกันที่จะช่วยลดการทุจริตเลือกตั้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.หวังส่วนหนึ่งจากระบบเลือกตั้ง เพราะเมื่อทุกคะแนนมีความหมาย ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก และคิดว่าการทุจริตจะลดลง ไม่เพียงเท่านี้กรธ.จะสร้างกลไกอื่นๆ เพื่อป้องกันการทุจริตให้เข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าประชาชนจะช่วยกันตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน กรธ.กำลังพิจารณาว่าควรจะให้ศาลเป็นผู้ตัดสินเรื่องการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าจะได้รับความยุติธรรมเพียงพอ แต่สำหรับการจัดการเลือกตั้งใหม่อาจจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เมื่อถามว่า ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเด็ดขาด แต่มีแนวโน้มว่าจะใช้หลักการเดิม คือ ให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน และป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการซื้อขายกันในสภาผู้แทนราษฎรอีก

ส่วนที่ว่าระบบการเลือกตั้งนี้จะมีผลให้การเมืองไทยในอนาคตเป็นระบบ 2 พรรคการเมืองหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กจะมีโอกาสได้รับคะแนนและส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนกัน แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กจำเป็นต้องพยายามส่งผู้สมัครส.ส.เขตให้มากที่สุด เพื่อให้ได้คะแนนมาคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะถ้ากรธ.ไปสร้างระบบที่ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้คะแนนด้วยในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครส.ส.เขต ย่อมจะไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองใหญ่

สำหรับการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.นั้น กรธ.จะตัดสิทธิผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือเป็นบุคคลที่เคยถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีย้อนหลังหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ที่ค่อนข้างแน่ใจ คือ คนที่ทุจริตประพฤติมิชอบจะถูกห้ามแน่นอน แต่สำหรับกรณีที่คนทำผิดกฎหมายเลือกตั้งกำลังคิดอยู่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ถ้าเราไปตัดสิทธิย้อนหลัง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการกำหนดมาก่อน

"ทั้งโลกไม่ยอมรับนับถือคนทุจริตอยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้าจะให้มีผลย้อนหลังก็คงไม่มีใครว่าอะไร" นายมีชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ