ประธานกรธ. ปัดเปิดช่องนายกฯคนนอก แนะพรรคการเมืองเสนอความเห็นแทนคัดค้านอย่างเดียว

ข่าวการเมือง Monday November 16, 2015 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า เท่าที่ได้รับฟังการแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองในช่วงที่ผ่านมาคิดว่ามีบางเรื่องที่ก่อให้เกิดความใจผิดคิดว่า กรธ.กำลังหาช่องทางให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด

กรธ.มีเจตนาเพียงต้องการให้พรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเอาคนหนึ่งคนใดเป็นการเฉพาะหรือให้มาจากที่ไหน เพราะพรรคการเมืองเป็นกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจึงต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเอง พรรคจะเลือกใครมาก็เป็นเรื่องที่พรรคต้องคำนึงถึงความเหมาะสมให้ตรงกับความชื่นชอบของประชาชน

"ที่มีการพูดว่า กรธ.กำลังจะเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นความใจผิด เพราะคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องผ่านถึง 3 ด่าน ประกอบด้วย 1.พรรคการเมืองจะเป็นคนเสนอชื่อตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี 2.ให้ประชาชนได้เห็นผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. และ 3.สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือก การจะมีคนนอกหรือไม่มีคนนอกเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น กรธ.ไม่ได้เกี่ยวข้อง และรัฐธรรมนูญก็คงไม่ไประบุรายละเอียดว่าจะต้องเลือกใคร" นายมีชัย กล่าว

ประธานกรธ. กล่าวว่า กรธ.ไม่ได้ขัดข้องหากพรรคการเมืองจะไปกำหนดข้อบังคับของตัวเองว่าการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอเฉพาะบุคคลที่เป็น ส.ส.หรือสมาชิกของพรรคเท่านั้น แต่ ณ วันที่เสนอรายชื่อต่อสาธารณะนั้นยังไม่มีใครเป็น ส.ส.เลย เพราะเสนอชื่อก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กรธ.จะหาทางป้องกันกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่อาจถูกบังคับให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากนอมินีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองเล็กๆ ด้วยการกำหนดว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจะต้องเลือกจากพรรคการเมืองที่ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% หรือพรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน

"พรรคการเมืองอาจกลัวไอ้โม่ง ประชาชนก็อาจกลัวไอ้โม่งเหมือนกันแต่คนละคน หากมีการประกาศกันตั้งแต่ต้น ต่างคนจะได้ไม่ต้องกลัว จะได้รู้ว่าใครจะมา จะได้ตัดสินใจกันได้ถูก กรธ.พยายามจนสุดความสุดสามารถในการปฏิรูปให้พ้นจากสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ในประเทศของเรา พรรคการเมืองในฐานะที่ต้องมารับช่วงบริหารประเทศต่อในวันข้างหน้า ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำกติกาของประเทศ ถ้าเห็นว่ากลไกใดมีช่องโหว่ก็ขอให้บอกมาจะได้ช่วยกัน แทนการออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านเฉยๆ" นายมีชัย กล่าว

ส่วนคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไรนั้น นายมีชัย กล่าวว่า คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณสมบัติของ ส.ส.และรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นมากขึ้น

สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีและการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ตรงกับพรรคการเมืองนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เบื้องต้นเราฟังเสียงจากพรรคการเมืองมาก่อน และพรรคก็ได้ยื่นคำขาดมาว่าต้องฟังเสียงจากประชาชนเป็นหลัก ซึ่ง กรธ.ยึดแนวทางนี้มาตลอด เมื่อประชาชนสะท้อนออกผ่านทางโพลล์ และมีผลออกมาแล้วก็คิดว่าพรรคการเมืองน่าจะยอมรับ

ส่วนที่พรรคการเมืองกำลังจะออกมารณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า สุดแล้วแต่พวกเขา เราก็คิดว่าบ้านเมืองก็เป็นของพรรคการเมืองด้วย และเราเปิดรับฟังอยู่แล้ว

ประธาน กรธ.กล่าวว่า การทำงานของ กรธ.นั้น ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่เคยบอกมาว่าต้องให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้เพิ่งได้รับหนังสือที่เป็นข้อเสนอมาจาก คสช.สาระสำคัญ คือ เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ป้องกันการทุจริตให้ได้ ทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองให้ดีมากขึ้น และต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นไม่ต้องยาวมาก

ส่วนกรณีนี้ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เคยพูดต่อสาธารณะว่า แม่น้ำ 5 สายต้องเดินไปด้วยกันและการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบที่ คสช.วางไว้นั้น นายมีชัย กล่าวว่า คสช.ก็วางกรอบข้างต้นเอาไว้จะให้ออกไปข้างนอกได้อย่างไร หรืออยากให้ร่างรัฐธรรมนูญสนับสนุนการทุจริตอย่างนั้นเหรอ ถึง คสช.ไม่บอกกรอบแบบนั้นก็ต้องทำ ขณะเดียวกัน กรธ.ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง(คปป.)หรือไม่ แต่เราคิดว่าเราน่าจะคิดอะไรที่ไม่เหมือน คปป.ได้ เพียงแต่ยังตอบไม่ได้ในเวลานี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ