กรธ.เข้มคุณสมบัตินายกฯ-รัฐมนตรี เพิ่มประเด็นซื่อสัตย์สุจริต

ข่าวการเมือง Thursday December 17, 2015 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุม กรธ.เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่สำคัญหลายประการ ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการลงมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาฯ จะพิจารณาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเปิดเผยจำนวน 5 คนในวันเลือกตั้ง และการเสนอรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองทุกพรรคจะไม่ต้องซ้ำกัน โดยพรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ได้นั้นจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาฯไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ

สาเหตุที่ กรธ.เห็นชอบให้การเลือกนายกฯ ในสภาฯไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วันเหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เนื่องจากเห็นว่าโดยปกติแล้วการลงมติเลือกนายกฯที่ผ่านมาก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 30 วัน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องเวลา

โฆษก กรธ.กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กรธ.ยังยืนยันตามหลักการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ คือ บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องมีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่เป็นตัวอย่างของสังคม ซึ่งในรายละเอียดที่จะระบุว่ามาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีควรเป็นอย่างไรนั้นจะกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจจะให้องค์กรอิสระมาดำเนินการกำหนดรายละเอียดเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน กรธ.ได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของ ครม.ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยหลักการจะกำหนดว่าการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม.จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน คำนึงถึงสถานะทางการเงิน วินัยการเงินการคลัง คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อรัฐและสถานะของประเทศ รวมไปถึงต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน โดยหากเกิดกรณีที่ ครม.ดำเนินการที่ขัดกับหลักการดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้มีการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นสาเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงได้หรือไม่ด้วย

โฆษก กรธ. กล่าวว่า ครม.ยังมีอำนาจในการตราพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่การตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.จะกระทำได้เฉพาะการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น จากเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับความเป็นเร่งด่วนของการตรา พ.ร.ก. นอกจากนี้ กรธ.ยังกำหนดให้การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา แต่หนังสือสัญญาประเภทใดบ้างที่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ จะกำหนดรายละเอียดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

โฆษก กรธ. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการกำหนดหลักการเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น กรธ.กำหนดว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และต้องไม่กระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท โดยหากใครฝ่าฝืนจะเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีและไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เป็นเวลา 2 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ