นายกฯ สั่งรมต.ทบทวน-จัดทำข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญภายใน 1 สัปดาห์

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ซึ่งได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และมอบให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงกลับไปทบทวนเนื้อหา พร้อมทำข้อเสนอแนะส่งมายังนายวิษณุ ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมส่งต่อให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบเวลา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะของตนเองใน 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.ต้องยึดตามโรดแมพเดิมทั้งหมด โดยจะให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 และให้กระบวนการเลือกตั้งเริ่มนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2560 แต่หากทำได้เร็วกว่านั้นก็เป็นสิ่งดี 2. รัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับและไม่ถูกแก้ไขบ่อย มีการกำหนดบทเฉพาะกาลและกฏหมายลูกให้ชัดเจน 3.สามารถขับเคลื่อนการปฎริรูปประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน และต้องสอดคล้องกับแผนยุทธาสตร์ชาติ 20 ปี 4.ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกระบวนการยุติธรรม สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรอิสระ 5.มีวิธีปฎิบัติที่ชัดเจนเมื่อเกิดความขัดแย้ง และกระบวนการหาทางออกจากความขัดแย้งให้ได้

6.ทำให้เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน พร้อมทำงบประมาณให้สอดคล้องทุกด้าน 7.กำหนดบทบาทของรัฐและข้าราชการให้มีความชัดเจน 8.นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในทุกงาน 9.เขียนบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการปฏิรูปให้ชัดเจนทั้งระยะสั้น กลาง และยาว และ 10.มีการทบทวนเรื่อการกระจายอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งต้องพิจารณาว่ากิจกรรมใดที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ก็ให้ดำเนินการต่อ เรื่องใดที่ไม่สามารถทำได้ก็ให้หน่วยงานรับมาดำเนินการต่อ

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รู้สึกดีใจที่เห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมา และต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจากประชาชน และให้เป็นไปตามที่ตนเองได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ แต่หากไม่ผ่านประชามติ ส่วนตัวก็มีแผนรองรับไว้แล้ว ส่วนอุบัติเหตุที่จะไม่ทำให้เกิดการเลือกตั้งนั้น นายกรัฐมนตรี มองว่า สาเหตุคงมาจากประเด็นประชามติไม่ผ่าน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

"อยากให้ผ่าน แต่ไม่ใช่แบบรัฐธรรมนูญทั่วไป มันต้องมีบทเฉพาะกาลหรือเปล่า สิ่งที่ผมทำวันนี้ต้องการให้เกิดวันหน้า แล้วไม่มีอะไรมารับประกันผมเลยเหรอ สิ่งที่ผมทำเสียเปล่าหรือไม่ มัวแต่มาตีเรื่องของที่มา เรื่องการใช้อำนาจ เรื่องการตรวจสอบทุจริต ประเทศไทยกลัวตรงนั้นเหรอ ไปบอกคนในสิ่งเหล่านี้ว่าควรเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องทำแบบนั้น เรากำลังร่างธรรมนูญให้คนเป็นแบบนั้น ต้องใช้อำนาจใช้กฎหมายก่อนในระยะแรกในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่าน จะกี่ปีก็ว่ามา แต่ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนผ่านก็เตรียมตัวตายทั้งหมดแล้วกัน ตายไปจากโลกใบนี้ ตายไปจากประเทศต่างๆ เพราะเขาจะไม่คบเราอีกแล้ว มัวแต่ขยายความขัดแย้งกันไปเรื่อยๆ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่กลุ่มต่างๆ ขออนุญาตวิพากวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ซึ่งแม้จะไม่อนุญาตแต่ก็มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้ว โดยขณะนี้ยังไม่พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ควรให้มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำประชามติ

ส่วนกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาระบุว่า หากร่างนี้ไม่ผ่านจะมีรัฐธรรมนูญที่โหดกว่านี้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโหดกว่าเดิม แต่ข้อกังวลในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกนั้น พล.อประยุทธ์ ย้ำว่านักการเมืองจะต้องเป็นคนเสนอชื่อมา แต่หากยังมีความขัดแย้งก็ต้องคัดเลือกจากคนนอกมาให้ได้ แต่ยืนยันว่าจะไม่ใช่ตนอย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ผ่านมาการตัดสินคดีต่างๆ ก็ต้องใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญทั้งนั้นเพื่อหาทางออกความขัดแย้ง ทั้งนี้แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาก็ไม่สามารถหยุดความขัดแย้งได้ถ้าหากยังมีกลุ่มการเมืองเดิมๆ อยู่ และให้มีรัฐธรรมนูญอีกเป็นร้อยฉบับก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับทุกคนที่ต้องใช้สติปัญญา มีจิตสำนึกก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังตัดพ้อว่า ทุกฝ่ายไม่ไว้ใจและไม่เชื่อมั่น ไม่มองเห็นถึงความตั้งใจทำงานของตนเลย ทั้งที่ได้ตั้งใจทำงานมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่กลับเชื่อคนอื่นๆ ที่ออกมาพูดทั้งหมด จนทำให้ตนรู้สึกเหมือนกับเป็นคนที่ไร้ค่า

"คุณไม่เชื่อมั่นผม ผมทำเพื่ออะไร คุณไม่ไว้ใจผมเลย ผมอยู่กับคุณมา 2 ปี คุณไม่เห็นผมทำอะไรบ้างเลยหรือไง คุณไว้ใจคนอื่นหมดทุกคน แต่ไม่ไว้ใจผม ผมมันไร้ค่า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ