พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งรัดพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ระยะแรกในปีการศึกษา 2559 โดยจะประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา เพื่อนำไปทบทวน ปรับปรุง แก้ไข สำหรับวางแผนดำเนินการต่อไป
โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นการจัดกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นการเรียนในห้องเรียนของเด็ก โดยเน้นให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน สร้างการเรียนรู้ เสริมคุณลักษณะพึงประสงค์ และเพิ่มทักษะชีวิต หรือการพัฒนา 4H คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hands) และด้านสุขภาพ (Health) โดยเฉพาะด้านทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและทักษะชีวิตให้กับเด็กยุคใหม่ ให้เป็นคนดีและเก่งควบคู่กัน โดยในปี 59 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีเป้าหมายที่จะขยายการดำเนินงานเป็น 10,669 โรงเรียน และครอบคลุมทั่วประเทศในปี 60
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 59 รัฐบาลจะจัดทำโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ โดยในระยะแรกมีเป้าหมาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนต้นแบบ ทั่วประเทศ รวม 7,424 แห่ง ครอบคลุมระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะเพื่อการบริการชุมชนและสังคม
ส่วนด้านอาชีวศึกษา รัฐบาลจะจัดการเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริงหรือการศึกษาแบบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยให้สถานประกอบการเข้ามาร่วมวางแผนผลิตกำลังคนและจัดการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนมีทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และทำงานได้จริงเมื่อจบการศึกษา
"ท่านนายกฯ ปรารภว่า การพัฒนาการศึกษาของไทยมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะ แต่ในระดับอุดมศึกษายังพบปัญหาคุณลักษณะของบัณฑิตที่จบออกมา โดยผลจากการศึกษาวิจัยเรื่อง ช่องว่างทักษะที่สำคัญในโลกการทำงานของศศินทร์ ร่วมกับ จ๊อบไทยดอทคอม และแคเรียร์วีซ่า ระบุว่า นิสิตนักศึกษา 86% ยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และยังมี 7 ทักษะที่บัณฑิตจบใหม่ยังขาดอยู่ เช่น ขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ การมองประโยชน์ส่วนรวม ความตรงต่อเวลา ความอดทน รวมถึงความสามารถในการสื่อสารที่เป็นระบบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาระดับอุดมศึกษาอาจให้ความสำคัญกับพัฒนาทักษะชีวิตเหล่านี้น้อยกว่าภาควิชาการ จึงได้มอบหมายให้ ศธ.ไปพิจารณานำหลักการ 4H และประชารัฐ ประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจริงตามผลการวิจัยดังกล่าว กระตุ้นให้นิสิตนักศึกษามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีทักษะชีวิตที่สมบูรณ์ เช่น มีความกระตือรือร้น ทำงานได้ทุกบทบาท เป็นมืออาชีพ และสื่อสารเป็น คิดเองได้ โดยไม่ต้องรอคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว