นายกฯ ยันไม่คิดตั้งพรรคการเมือง-ไม่ลงเลือกตั้ง-ไม่เคยวางตัวทายาท

ข่าวการเมือง Tuesday April 12, 2016 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมือง และไม่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งย้ำว่าไม่มีใครใน คสช.ที่แสดงเจตนาจะเล่นการเมืองในอนาคต เช่นเดียวกับตนเองที่ไม่ต้องการเล่นการเมือง เพียงแค่ต้องการแก้ปัญหาบ้านเมืองให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

"ไม่มีใครเขาอยากอยู่หรอก ถ้าผมไม่อยู่เขาก็ไม่อยู่ ตั้งพรรคอะไร ไหนใครให้ข่าวเรียกมาซิ ถ้าผมตั้งคุณจะเลือกผมหรือไม่ เรื่องตั้งพรรคไม่จริง จะไม่มีอะไรทั้งสิ้น แก้สถานการณ์ไปก่อนให้เกิดประชามติให้ได้ เลือกตั้งให้ได้มันก็จบหน้าที่ผมก็เท่านั้น แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาอีกก็เลือกตั้งไม่ได้ ก็ไปหาวิธีการมาซิ ก็กลับมาอยู่แบบเดิม และผมไม่เคยคิดอยาก ผมอยากทำงานให้เสร็จ ทำงานเพื่อคน 70 ล้านไม่ใช่เพื่อผม ไม่ใช่เพื่อตระกูลผมหรือญาติพี่น้องผม เขาไม่ได้อะไรจากผมเลย เขาเพียงพอกันหมดแล้ว"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มองว่านักการเมืองคนใดเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาเคยเลือกนักการเมืองจากทุกพรรค แต่ก็ผิดหวังที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องตัดสินใจอีกครั้ง

ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่ามีการเตรียมรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือนายกรัฐมนตรีม้ามืดในกรณีที่ 2 พรรคใหญ่ไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่ามีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ว่า ไม่มี ไม่ลงสมัครเลือกตั้งแล้วจะมาได้อย่างไร ส่วนที่มีกระแสข่าวถึงรายชื่อของนายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่าไม่มีเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นผู้เสนอชื่อ หรือจะมีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศเหมือนเช่นกรณีก่อนปฏิวัติรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.57 แต่สิ่งสำคัญคือการต้องช่วยกันหยุดไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าว เพราะเชื่อว่าถึงมีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการทำประชามติว่า ที่ผ่านมาได้ให้อำนาจกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ร่าง ขณะที่แม่น้ำ 4 สายและภาคส่วนต่างๆได้เสนอความเห็นและมีการปรับแก้ร่างแล้ว ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นทีมงานเดียวกัน และมีจุดมุ่งหมายในการทำเพื่อประเทศเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อผลออกมาเป็นเช่นไรก็ต้องถือว่าเป็นที่ยุติ ส่วนคำถามพ่วงประชามตินั้นก็มีการชี้แจงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วว่า ที่ต้องการให้มีคำถามเกี่ยวกับการให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากไม่มั่นใจว่ารัฐบาลหน้าจะเข้ามาสานต่องานด้านต่างๆหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติก็ขึ้นอยู่กับประชาชน และหากผลออกมาไม่ผ่านประชามติก็มีการเตรียมการไว้แล้วแต่อยู่ในใจ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย และเห็นว่าควรจะตั้งคำถามกับคนที่จะจะมาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งว่าจะสามารถดูแลประชาชนและทำงานให้ประเทศชาติเหมือนรัฐบาลนี้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ