กรธ. เตรียมเสนอศาลรธน.สัปดาห์หน้า หลังมีมติให้อำนาจส.ส.เสนอชื่อนายกฯ ส่วน ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อแต่ร่วมโหวตได้

ข่าวการเมือง Thursday August 25, 2016 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่าที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของ สนช. โดย กรธ.ยืนยันตามหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ กำหนดให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น เพราะ ส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ส่วน ส.ว.มีหน้าที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลา 5 ปีตามคำถามพ่วงเท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องยืนยันตามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 88 และ 159 ตามหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.จำนวน 251 คนขึ้นไป ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีฯ

"ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก" นายนรชิต กล่าว

นายนรชิต กล่าวว่า สาเหตุที่ กรธ.ไม่สนองความต้องการของ สนช.ที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอนายกรัฐมนตรี เพราะตามหลักการสำคัญของมาตรา 159 บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งจะต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้เป็นการชั่วคราว เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบ เพราะเมื่อได้รับการยกเว้นแล้วก็ต้องย้อนกลับไปให้ ส.ส.ดำเนินการต่อไป

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า การนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะสามารถทำได้ครั้งเดียวตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นหากสภาชุดแรกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป โดย ส.ว.จะมีสิทธิเห็นชอบบุคคลตามที่พรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อภายใน 5 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม หลักการเบื้องต้นทั้งหมดนั้น กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยให้เหมาะสมก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งกลับมาให้ กรธ.ปรับแก้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ เพื่อไม่ต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ