ป.ป.ช.เปิดแผนยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 3 ภายใต้หลักการ"ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"

ข่าวการเมือง Tuesday November 1, 2016 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) โดยยึดหลักการ "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"

เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 จึงมีเนื้อหายุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อตอบโจทย์ต่อปัญหาหรือสถานการณ์การทุจริตที่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเผชิญอยู่จริง โดยคำนึงถึงบทบาทของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ องค์กรสาธารณะ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ การแปลงยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ การติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้รัฐสภาและสาธารณชนได้รับทราบในทุกปีงบประมาณ

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบอย่างเข้มแข็งเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสเทียบเท่าสากล ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)" โดยมีพันธกิจคือ "สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ทุกภาคส่วนแบบบูรณาการและปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล"

แนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการดำเนินงานจากเดิม ไปสู่กระบวนการทำงานแบบบูรณาการทั้งระบบ โดยเริ่มจากการวางรากฐานทางความคิดของประชาชนที่นอกจากตนเองจะไม่กระทำการทุจริตแล้ว จะต้องไม่อดทนต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป คนไทยจะต้องก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์และความเพิกเฉยต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการสร้างชาติที่สะอาดปราศจากการทุจริต ในส่วนของการขับเคลื่อนนโยบายต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องได้รับความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 มี 5 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.สังคมมีพฤติกรรมร่วมต้านการทุจริตในวงกว้าง 2.เกิดวัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) มุ่งต้านการทุจริตในทุกภาคส่วน 3.การทุจริตถูกยับยั้งอย่างเท่าทันด้วยนวัตกรรม กลไกป้องกันการทุจริตและระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล 4.การปราบปรามการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายมีความรวดเร็ว เป็นธรรมและได้รับความร่วมมือจากประชาชน 5.ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย มีค่าคะแนนในระดับที่สูงขึ้น และ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2.ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต 3.สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย 4.พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก 5.ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต และ 6.ยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย

ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการทุจริต สามารถยกระดับมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม และความโปร่งใสของประเทศไทยในทุกมิติให้มีมาตรฐานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption:UNCAC) ภายในปี พ.ศ.2564 เพื่อเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ในการเพิ่มระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50


แท็ก ป.ป.ช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ