(เพิ่มเติม) ตัวแทนคปป.-คปพ. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ยกเลิกต่อสัมปทานแปลง B8/32 ให้"เชฟรอน",รัฐแจงเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาเดิม

ข่าวการเมือง Tuesday December 13, 2016 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ท.หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.) กองทัพนิรนาม พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 50 คน เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้พิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา กรณีให้ต่ออายุสัมปทานการขุดปิโตรเลียมแก่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และให้ชะลอการลงนามสัมปทานในการขยายสัญญา เนื่องจากเห็นว่าทำใหัรัฐและประชาชนได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม โดยเร็ว

พ.ท.หญิง กมลพรรณ กล่าวว่า การให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่เอกชนที่ผ่านมายึดตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 นั้นประเทศไทยมีความเสียเปรียบทั้งเรื่องความโปร่งใส และการตรวจสอบปริมาณขุดเจาะ เพราะเอกชนรายงานเป็นเดือนตามมาตรา 76 แทนที่จะรายงานเป็นวินาทีต่อวินาที ทำให้รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้

อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมยังเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหักค่าใช้จ่ายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต จ่ายภาษีให้รัฐลดลง 35-60 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งให้อายุสัญญาจากเดิม 20-30 ปีเป็น 39 ปี จึงเห็นว่า ควรจะมีการป้องกันการรั่วไหล เพราะรัฐไม่วางมาตรการลงโทษทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ รวมถึงรัฐควรเร่งแก้ไขกฎหมายจากการให้สัมปทานเป็นสัญญาจ้าง เพื่อให้ทันภายในปี 2560 ที่จะเปิดประมูลก่อนสัญญาสัมปทาน และสำหรับผลประโยชน์ส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่รัฐบาลควรจะได้จากสัมปทานถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

ด้านเครือข่ายพลังงานไทย (คปพ.) ได้มายื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายปิโตรเลียมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ กรณีการต่ออายุสัญญาสัมปทานการขุดเจาะและผลิตให้แก่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ พร้อมทั้งเรียกคืนท่อก๊าซธรรมชาติด้วยเช่นกัน และขอให้นายกรัฐมนตรีทวงคืนท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 32,000 ล้านบาทให้กลับคืนมาเป็นของรัฐโดยเร็วเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน

ขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องการต่อระยะเวลาผลิตแปลง B8/32 ให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่รอกฎหมายที่ดำเนินการแก้ไขในปัจจุบันนั้น เป็นการดำเนินการภายใต้สัญญาเดิมที่มีการกำกับดูแล/ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จากหน่วยงานของรัฐทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสรรพากร โดยมีกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวงและรายได้อื่น ๆ ที่มีความชัดเจนและรัดกุม มุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่แล้ว

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นการเพิ่มระบบในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนอกเหนือจากระบบสัมปทาน และในขณะนี้ร่างฯ ดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติในการบังคับใช้แต่อย่างใด อีกทั้งการต่อระยะเวลาผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเดิม

ส่วนกรณีที่ระบุว่าการต่อระยะเวลาผลิตดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานเช่นเดียวกับแหล่งบงกชและเอราวัณ มิได้กำหนดเงื่อนไขให้รัฐเข้าพื้นที่สัมปทานเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในการผลิตปิโตรเลียมต่อจากเอกชนเมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานนั้น เห็นว่าการต่อระยะเวลาผลิต B8/32 ได้กำหนดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเตรียมการสำหรับการรับช่วงผู้ดำเนินงานในกรณีที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในอนาคต ซึ่งเป็นการป้องกันและลดข้อห่วงกังวลที่เคยมีต่อแหล่งที่จะสิ้นสุดอื่น ๆ

สำหรับกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเปรียบเทียบก่อนและหลังการต่อระยะเวลาผลิตนั้น เห็นว่าตัวเลขส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชนที่นำเสนอเป็นสัดส่วนตัวเลขหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งข้อมูลคนละพื้นฐานการคำนวณกับข้อมูลที่ คปพ.นำผลการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมากล่าวอ้าง

นอกจากนี้การที่กล่าวอ้างว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 26 เป็นการร่างกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเสียเปรียบนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับสัมปทานดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และการพัฒนาแหล่งที่อยู่ในช่วงปลายอายุของแหล่งจำเป็นต้องมีผู้ดำเนินงานที่มีความชำนาญในพื้นที่ และคาดหวังได้ว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมที่มีการดำเนินงานมาแล้ว 20 ปีย่อมมีความสามารถที่จะผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำทรัพยากรที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องศักยภาพของแหล่ง ซึ่งหากเทียบกับการเปิดประมูลให้ผู้ดำเนินงานรายใหม่เข้าดำเนินการ อาจต้องเสียเวลาในการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการผลิต และอาจดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ารายเดิมจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานได้

ส่วนกรณีที่ระบุว่าการต่อสัญญาสัมปทานออกไปอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 26 วรรคสามนั้น เห็นว่าบริษัทที่มีการอ้างถึงว่ามีปัญหาเรื่องภาษีมิใช่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในแปลง B8/32 นี้ และเป็นเรื่องภาษีของน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ระหว่างตีความด้านกฎหมายและอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายอื่น มิได้เป็นการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ