(เพิ่มเติม) นายกฯ ถกคกก.ปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติและปรองดองนัดแรก เดินหน้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงใน 15 ปี

ข่าวการเมือง Thursday January 12, 2017 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์นัดแรกว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ (ปยป.)โดยได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงแม่น้ำ 5 สาย ในเรื่องการขับเคลื่อนต่าง ๆ เพื่อเป็นการจัดทำโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศไทยที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นภายใน 15 ปี จึงต้องปฏิรูปในหลายเรื่อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้ได้สั่งการในหลายเรื่อง ทั้งการทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะใช้ที่ดินของประชาชน และเอกชน พร้อมนำเอาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือปราชญ์ชาวบ้านเข้าไปดูแล เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ เพราะหากเกษตรกรแย่งกันทำก็จะล้มเหลว ซึ่งรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะเวลาสั้น หรือ แค่ทำการชดเชยหรือเยียวยา

ทั้งนี้จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ให้คนไทยและต่างประเทศรับรู้ว่า ไทยเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและได้รับประโยชน์ในอนาคต พร้อมย้ำว่ารัฐบาลดูแลประชาชนและไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงขออย่ากังวล ขณะที่ทุกอย่างต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากไม่สามารถใช้กฎหมายและกติกาเดิม ในการเดินหน้าประเทศต่อไปได้ ในขณะที่โลกกำลังแข่งขัน

"ในปี 60 รัฐบาลจะซ่อมของเก่า เสริมให้แข็งแรงขึ้นและสร้างโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการ EEC ที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 60 หลายอย่างต้องคิดใหม่และมีกฎหมายสำคัญ รวมถึงประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้ง แล้วจะเดินหน้าไม่ได้" นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ปยป.นัดแรกว่า นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าว่าปี 60 จะเป็นปีของการปฏิรูปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีและการสร้างความปรองดองต้องนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยหลักการสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเกี่ยวกับวาระการปฏิรูป คือคณะกรรมการชุดนี้จะต้องคัดกรองวาระการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอมา จะแยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งการซ่อม เสริม และสร้าง จัดลำดับก่อนหลัง ทำเรื่องเร่งด่วนที่มีความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งทุกคณะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

สำหรับในวันนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณา 2 เรื่องสำคัญ คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และงบพัฒนากลุ่มจังหวัด วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการ EEC เรื่องการจัดทำกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนม.ค.นี้ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการ EEC และจะมีการออกสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน นอกจากนี้ยังเร่งโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ – ระยอง อุตสาหกรรมไฮเทค และโครงการเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

อีกทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนการใช้งบประมาณการจัดทำการลงทุนแบบกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งแบ่งเป็นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ กองทุนเอสเอ็มอีแบบกลุ่มจังหวัด และงบส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน คณะกรรมการบริหารโครงการ EEC กล่าวว่า โครงการ EEC ถือเป็นโครงการหลักที่จะเปลี่ยนประเทศ เพราะการแข่งขันในโลกปัจจุบันเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้นทุกประเทศต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยต้องทำ 5 โครงการหลักไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินและผู้โดยสาร 2.ท่าเรือแหลมฉบัง ที่เชื่อมโยงไทยกับโลกโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV 3.รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อมโยงสนามบินทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา 4.อุตสาหกรรมไฮเทค ที่จะเจรจาบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกให้มาลงทุนในไทย โดยพร้อมให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ และ 5.การสร้างเมืองใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขณะเดียวกันในส่วนของกฎหมายกำลังเร่งดำเนินการคาดว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี) ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยตั้งกรอบวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนโครงการพัฒนา 18 จังหวัด ซึ่งจากการประเมินในขณะนี้จะใช้เงินสำหรับโครงการดังกล่าวในวงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับงบพัฒนากลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการสามมิติ งบสำหรับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ และงบสำหรับใช้จ่ายสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ