นายกฯเล็งใช้คกก.เตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ร่วมแก้ปมขัดแย้งกรณีสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-ขยะ

ข่าวการเมือง Saturday February 4, 2017 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ โดยย้ำว่าคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะเป็นการปรับกระบวนการทำงานของรัฐบาล ร่วมกับ “แม่น้ำทุกสาย" เพื่อให้เป็นผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในด้านขั้นตอน กฎ ระเบียบ ซึ่งการปรองดองไม่ใช่เฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องที่ภาครัฐ และประชาชน ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ทั้งกรณีการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ

ทั้งนี้ การทำงานของป.ย.ป. เพื่อให้ 4 งานหลัก อันได้แก่ การบริหารราชการ ,การปฏิรูป ,ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สามารถเดินหน้าไปได้ และสามารถส่งต่อรัฐบาลต่อไปได้ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาล และคสช. ได้ดำเนินการไปแล้ว มีอยู่มากมาย ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ กำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งจะต้องจัดระบบ ระเบียบ เพื่อเร่งรัดดำเนินการ พร้อมกำหนดความสำคัญเร่งด่วน ขับเคลื่อนด้วยกลไกใหม่ ที่สร้างความสอดคล้อง บูรณาการ และติดตามประเมินผลได้ ในทุกระดับ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ จะขับเคลื่อนงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการและขับเคลื่อนไว้อยู่แล้ว โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) 6 คณะ ทั้งงาน Function และงาน Agenda รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว และสอดคล้องกันทุกมิติ

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เป็นการนำวาระปฏิรูปทั้งหมด ทั้งที่มาจากรัฐบาล, คสช. ,สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ กขป. 6 คณะ มากกว่า 200 เรื่อง ซึ่งบางส่วนได้คิดและทำไปแล้ว มาจัดกลุ่ม และกำหนดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยขั้นต้นในปี 60 นี้ มี 27 วาระปฏิรูป ที่สำคัญเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการ ส่วนวาระปฏิรูปที่เหลือก็ต้องจัดลำดับ และดำเนินการตามความสำคัญเร่งด่วน โดยเริ่มดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อพร้อมส่งมอบให้กับรัฐบาลใหม่ต่อไป โดยจัดทำ Road map การทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้การส่งมอบผลการปฏิรูปสู่ประชาชน มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

3. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีการแบ่งกลุ่ม เพื่อการพูดคุย ทั้งกลุ่มการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐกิจและสังคม ประชาสังคม การต่างประเทศ และสื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ตกผลึกในมุมมองของแต่ละกลุ่ม ที่พูดจาภาษาเดียวกัน ก่อนที่จะนำทุกข้อเสนอ จากการ ระดมสมองมาพิจารณาแบบบูรณาการกันในคณะกรรมการ ระดับชาติ เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านั้นมีผลเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า การปรองดองนั้นมิใช่เฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ภาครัฐ และภาคประชาชน ที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน จึงไม่เกิดความร่วมมือ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมและประเทศชาติในอนาคต เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อวันข้างหน้าทั้งสิ้น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อน และติดตามการทำงาน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยังได้กำหนดให้มี PMDU หรือสำนักงานบริหารนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และถ่ายทอดนโยบาย คำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงไปยังหน่วยงานระดับปฏิบัติอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ