นายกฯ มอบนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิป.ย.ป.เน้นความมีส่วนร่วมของประชาชน เตรียมเวิร์คช็อปก่อนประชุมชุดใหญ่ 24 เม.ย.นี้

ข่าวการเมือง Monday March 6, 2017 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เปิดเผยภายหลังการประชุมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการป.ย.ป. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ เห็นร่วมกันว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองจะต้องพัฒนาคุณภาพคนและมีการประชาสัมพันธ์งานที่ได้ขับเคลื่อนไปก่อนหน้านี้ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำต่อที่ประชุมให้เร่งกระบวนการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปนับตั้งแต่วันนี้ โดยใช้กลไกประชารัฐเชิงพื้นที่ผ่านมหาวิทยาลัย ทั้งผลการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมแล้ว สิ่งที่กำลังจะขับเคลื่อน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจะให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นกับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ก่อนจะประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คช็อปในส่วนของที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 39 คน และร่วมประชุมกับ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ในวันที่ 24 เมษายนนี้

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการพิจารณาควบรวมคณะกรรมการที่เกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปและการสร้างความปรอดอง เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะควบรวมเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพียงคณะเดียว แต่แบ่งการทำงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านยุทธศาตร์ ด้านปฏิรูป และด้านปรองดอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงคณะกรรมการปฏิรูป 7 ด้าน ที่จะมีขึ้นตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ การเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ การศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวภายหลังการประชุมว่าฯ วันนี้ถือว่าได้รับข้อมูลและได้รับประโยชน์ในเรื่องที่เป็นภาพรวมและความเชื่อมโยงของประเด็นต่างๆ ทั้งในส่วนของการปฏิรูปประเทศ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และเรื่องของความปรองดองที่ทำให้เห็นถึงความต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นเรื่องความปรองดองนั้นมีหลายหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้อยู่ และมีการวางแผนการทำงานไว้ โดยตนเองได้ปรึกษา กับ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และนายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงแนวทางการทำงานและจะนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณา

ในส่วนของการรับเข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษานั้น ตนเองจะช่วยให้ข้อมูลที่ทำให้การทำงานนั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งก็คงจะได้ให้ความเห็นภายหลังจากได้เห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว และการทำงานอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเนิ่นนาน เพราะถือเป็นงานซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกคนให้ความสนใจและใส่ใจอยู่

ขณะที่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจตอบรับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ย.ป. เพราะเชื่อว่าประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว และสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการประสานยุทธศาสตร์ชาติกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และแผนงานในระดับภูมิภาค ซึ่งการทำยุทธศาตร์ชาติในระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ ทุกภาคส่วนของประเทศต้องช่วยกันทำ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องช่วยกันเหมือนที่นายกฯ บอกไว้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องประสานยุทธศาตร์ชาติกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติทั้งระดับภูมิภาคและจังหวัด ซึ่งรายละเอียดจะได้หารือในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้มั่นใจว่าสิ่งที่รัฐบาลทำจะสำเร็จได้แน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ