นายกฯ ขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิเสียสละร่วมงาน ป.ย.ป.ช่วยกันผลักดัน“ยุทธศาสตร์ชาติ"

ข่าวการเมือง Saturday March 11, 2017 09:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า"ผมขอขอบคุณ “ผู้ทรงคุณวุฒิ" ในคณะกรรมการ "โครงสร้างและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)" ทั้ง 39 ท่าน ที่เสียสละ และเห็นแก่อนาคตของประเทศชาติร่วมกัน ทำในสิ่งที่ยาก เริ่มจากการหารือ สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และสำรวจประเทศของเรานั้น ควรจะเดินหน้าไปอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอในลำดับต่อ ๆ ไปนะครับตามนโยบายที่เรามีอยู่

ยกตัวอย่าง การใช้ข้อมูลในการวางยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างเป็นขั้นตอน และมีแนวทางนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เช่น ข้อมูลทางสถิติเชิงประจักษ์ สามารถนำมาใช้บอกความสัมพันธ์ระหว่าง “สัดส่วนแรงงาน" กับ “มูลค่าทางเศรษฐกิจ" ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นทั้งปัญหา และโอกาสที่ประเทศเผชิญอยู่ และจะทำให้เราสามารถหาวางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อจะ เพิ่มโอกาส และเห็นประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศในระยะยาวอีกด้วยอาทิ

(1) แรงงานภาคเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เพียง 12% เท่านั้น ดังนั้นเราต้องผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรของเรา เป็น “Smart Farmer" รู้จักการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลทางการเกษตร, การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และจะต้องรู้จักกลไกการตลาดเป็นต้นนะครับ ซึ่งจะต้องอาศัยการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ทั้งระบบ

(2) แรงงานภาคอุตสาหกรรม มีเพียงร้อยละ 14 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ได้ถึง 33% และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น จากการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของเราเอง จึงเป็นที่มาของนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0", ที่ได้มีการกำหนดอุตสาหกรรม 10 เป้าหมายของประเทศ

และการพัฒนาด้านการศึกษา ที่จะให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษามากขึ้นเพื่อมีแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานในประเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกด้วย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับการเกษตร การเกษตรก็ทำเกษตรไปให้มี่รายได้สูงขึ้น ใช้พื้นที่ให้น้อย ใช้น้ำให้น้อย ใช้ต้นทุนให้น้อย จะได้มีกำไรมากขึ้น แล้วก็ปลูกพืชที่มีคุณภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์

(3) แรงงานภาคบริการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกมาก ก็ถือเป็น “จุดแข็ง" ของไทย"

นอกจากการดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข สถานที่ท่องเที่ยวสะอาดไร้ขยะ ปลอดภัย รัฐบาลก็จะให้ความ สำคัญกับการท่องเที่ยว ที่เป็น “แพ็กเก็จ" เชื่อมโยงเมืองหลัก- เมืองรอง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชนเกษตร เพื่อกระจายรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยตรง รวมทั้ง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ กับกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน เป็นต้น ต้องระมัดระวัง การค้าขายหรือการท่องเที่ยวที่เกี่ยวพันกับธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

อีกตัวอย่างของ “การสำรวจตัวเอง" ของคณะกรรมการ ป.ย.ป. พบว่า “อุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน" เป็นอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยมีความเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ สำหรับขนส่งคน สินค้า การท่องเที่ยว รวมทั้งรองรับธุรกิจ e-Commerce สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเจริญ เติบโตของ GDP ของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้นด้วยที่ตั้งของประเทศไทย มีความเหมาะสมกับการพัฒนาในทุกๆ ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถขยาย “เส้นทางบิน" ได้อีกราว “2 เท่า" จากเดิม 104 เส้นทาง เป็น 193 เส้นทาง ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกันของ “โครงข่ายสนามบิน" ทั้ง 39 แห่งของประเทศในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งในปัจจุบันสนามบินหลัก ทั้ง 6 แห่งของประเทศ อันได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง, ภูเก็ต และหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ใช้บริการ ที่เกินกว่าศักยภาพ รวม 23 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดกับคับคั่ง ล่าช้า ในการให้บริการ ซึ่งก็นับเป็นปัญหาและแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม ดังนั้นเราต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคตนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน ที่คณะกรรมการ ป.ย.ป. เห็นชอบในหลักการ และให้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านต่างๆ ทั้งความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อยกระดับให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการบิน" ในภูมิภาค ประกอบด้วย…

(1) การเป็น “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน" โดยการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของไทย ให้พร้อมรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

(2) การเป็น “ศูนย์กลางคลังสินค้าและการขนส่งทางอากาศ" ก่อนกระจายไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และให้ความสำคัญในการรองรับธุรกิจ e-Commerce ในอนาคต

(3) การเป็น “ศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วน" ด้วยการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ เพื่อ “ปลดล๊อค" และส่งเสริมบทบาทของไทย ที่มี “ภูมิรัฐศาสตร์"ซึ่งได้เปรียบและเหมาะสมกว่า ซึ่งจำเป็นจะต้องวางข่ายการคมนาคมระหว่างภายนอกสนามบิน กับทางเข้าเมืองด้วย

ทั้งนี้ นอกจากการปฏิรูปประเทศแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการ ป.ย.ป. ก็มีความเห็นที่ตรงกัน ถึงความสำคัญและจำเป็น ที่ประเทศไทยต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ" ให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราก็ต้องพัฒนาอย่างสมดุลทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็ล้วนมี “ยุทธศาสตร์" มุ่งไปสู่ “วิสัยทัศน์ของประเทศ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ