(เพิ่มเติม) "ยิ่งลักษณ์"เสร็จสิ้นแถลงปิดคดีจำนำข้าวแจง 6 ประเด็นย้ำถูกใส่ร้าย-ไม่เป็นธรรม ร่ำไห้วอนศาลเมตตา

ข่าวการเมือง Tuesday August 1, 2017 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นการแถลงปิดคดีด้วยวาจาโครงการรับจำนำข้าว โดยแก้ข้อกล่าวหาในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ย้ำถึงการถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถูกใส่ร้ายด้วยการสร้างพยานหลักฐานเพื่อเอาผิด ซึ่งใช้เวลาชี้แจงต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประมาณ 1 ชั่วโมงเศษก่อนจะออกมาพบกับกองเชียร์หลายร้อยคนที่เดินทางมารอให้กำลังใจตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจอย่างเข้มงวด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงในเรื่องที่ 1 ว่า ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคดีนี้มีข้อพิรุธมากมาย ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล โดยมีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิด ป.ป.ช.เริ่มต้นกล่าวหาด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน เร่งรีบชี้มูลทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นในเรื่องทุจริตการระบายข้าวที่เป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป

นอกจากนั้น ก่อนฟ้องคดี อัยการสูงสุดเห็นว่ารายงานของ ป.ป.ช.ยังมีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1.ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่าตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะยับยั้งหรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร 2.ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3.ประเด็นการทุจริต และ 4.ประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า ป.ป.ช.และโจทก์ มีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีมากมายถึงขนาดต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด

"ดังนั้น ทุกประเด็นล้วนแต่มีข้อไม่สมบูรณ์ และไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้ แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

ส่วนในชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาลนั้น ก็พบว่ามีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช. และในชั้นพิจารณาคดีโจทก์ก็มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง คือ 1. รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าวที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี

2. มีการอ้างเรื่องการสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสารไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธ.ค.58 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย

3. เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งมีการชี้มูลความผิดหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าวมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีจำนำข้าวทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรี เสมือนจะทำให้เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง

"ถือเป็นการสร้างเรื่อง และการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบ ในลักษณะเอาตัวดิฉันมาดำเนินคดีไว้ก่อนแล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลภายหลัง นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้ว ถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีของศาลและต่อสังคมว่าดิฉันเป็นผู้ผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งๆ ที่คดีอาญายังไม่สิ้นสุด...ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

เรื่องที่ 2 นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับ การกำหนดนโยบายเป็นการดำเนินการต่อยอดโครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี และถูกพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับรากหญ้าและระดับมหภาค มิได้ทำให้เกิดความเสียหาย

เรื่องที่ 3 ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน รวมทั้งวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าไม่สามารถยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวได้ตามอำเภอใจ เพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย มีกระบวนการขั้นตอนที่ได้ศึกษาไว้อย่างรอบคอบแล้ว

เรื่องที่ 4 การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีรายงานจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสถาบันการศึกษาชี้ให้เห็นตรงกันว่าเป็นโครงการที่สามารถช่วยยกระดับชีวิตของเกษตรกร และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป

เรื่องที่ 5 ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ซึ่งกรณีมีข้อท้วงติงจาก ป.ป.ช.และสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น ตนเองได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (กนข.) แล้วตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตรวจสอบหาผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว

เรื่องที่ 6 ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่โครงการดังกล่าวเป็นระดับปฏิบัติการมีคณะอนุกรรมการดูแล พร้อมกับยกคำให้สัมภาษณ์ของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ที่ว่าคดีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าวแบบจีทูจี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า สิ่งที่ได้กล่าวมานั้นได้มีการดูแลอย่างรอบคอบ ไม่มีเจตนาพิเศษที่จะปกปิดข้อมูลความเสียหาย ไม่เคยสมยอมให้เกิดการทุจริต และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตามข้อกล่าวหา

"ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช.ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลที่เคารพยังไม่ได้ตัดสิน ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดิฉันจึงขอความเมตตาต่อศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วย" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวพร้อมน้ำตาในช่วงท้ายของการแถลงปิดคดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ