รัฐบาลหนุนงานวิจัย"มะม่วงมหาชนก"ต้านมะเร็ง แนะขยายผลสร้างรายได้แก่เกษตรกร-เพิ่มมูลค่าผลผลิต

ข่าวการเมือง Sunday September 3, 2017 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม บริหารงบประมาณ พัฒนาบุคลากร และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมนักวิจัยไทยที่ประยุกต์ใช้ความรู้ต่อยอดสร้างนวัตกรรมแก่สังคม เช่น กรณีของ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร ที่ได้ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับมะม่วงมหาชนกจนพบว่ามีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมอง โรคต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงมหาชนกให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงชนิดนี้ ซึ่งนอกจากจะมีรสชาติอร่อยถูกใจนักชิมทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคได้อีกด้วย ดังนั้น จึงได้กำชับให้มหาวิทยาลัยช่วยถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่สนใจ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การดูแลรักษา การฉีดสารละลาย และการนำไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งขอเชิญชวนสื่อมวลชนให้ช่วยกันทำข่าวเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีอยู่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกระแสการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากยังมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจในหลายสาขาอีกเป็นจำนวนมาก

"นายกฯ อยากเห็นมหาวิทยาลัยวิจัยของไทยร่วมกันผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนและภาคอุตสาหกรรมลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น" พล.ท.สรรเสริญระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% เพื่อให้ภาคเอกชนนำค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปขอยกเว้นภาษีได้สูงสุด 3 เท่าของที่จ่ายจริง จัดทำบัญชีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนจะส่งเสริมให้มีการลงทุนใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Expenditure on R&D : GERD) มากกว่า 1% หรือเท่ากับ 130,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ