ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้ให้ สตช.ชดใช้กรณีสลายม็อบปี 51-ยกฟ้องสำนักนายกฯ

ข่าวการเมือง Wednesday January 31, 2018 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน คดีสลายการชุมนุมพันธมิตร ปี 2551 ลดลงจากศาลปกครองชั้นต้น กำหนดมา 20% และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม

ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีระหว่าง นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ แนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวก รวม 250 คน(ผู้ฟ้องคดี) ฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1) และสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 บริเวณรอบรัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และบริเวณใกล้เคียง ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมที่เป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ ในการสลายการชุมนุม และวิธีการยิงแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาเกินกว่าปกติทั่วไป ทำให้เกิดการชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตราย เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา แก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย ลดลงจากที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดร้อยละ20 โดยให้ชดเชยค่าสินไหมทดแทนแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 บาท ถึง 4,152,771.84 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวก็เป็นไปตามปกติ เพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีสลายการชุมนุมแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเริ่มมีการประชุมแล้วและเกิดความเสียหาย ย่อมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะสั่งให้ปิดประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์หรือไม่ มิใช่อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ