นายกฯ ขู่ มิ.ย.กำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้หากพรรคการเมืองไม่เข้าร่วมสังฆกรรม

ข่าวการเมือง Tuesday March 20, 2018 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า กรณีที่ คสช.จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเดิมเข้าหารือในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ พรรคการเมืองใดจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ แต่หากไม่เข้าร่วมก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ เพราะส่วนตัวต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่ามีการพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง แต่ไม่ได้ต้องการที่จะรู้นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง เพียงแต่ทุกพรรคต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะอาสาเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ทั้งนี้หากตัวแทนพรรคการเมืองมาไม่ครบหรือการพูดคุยไม่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคการเมืองจะต้องตอบให้ได้ว่าจะสานต่อการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างไร เช่น การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการบุกรุกป่า เป็นต้น ไม่ได้อยากรู้นโยบายของพรรคการเมือง และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยในการหารือดังกล่าว แต่ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นได้พรรคการเมืองที่ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาใดๆ เพราะการทำงานต้องสร้างการรับรู้ต่อประชาชนให้ได้ เหมือนกับรัฐบาลชุดนี้เปิดเผยนโยบายต่อประชาชนทุกเรื่อง และไม่เคยห้าม หากใครต้องการนำไปดำเนินการต่อ

ขณะเดียวกันรัฐบาลนี้ไม่เคยทิ้งนโยบายที่ดีของพรรคการเมือง เรื่องไหนสามารถสานต่อได้ก็ทำ เรื่องไหนมีปัญหาก็ดำเนินการแก้ไข ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า แนวทางแบบนี้จะขับเคลื่อนประเทศไปได้ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะมองว่านโยบายพรรคไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ เพราะที่ผ่านเห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายพรรคทำเพื่อสนองตอบคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น โครงการจำนำข้าว เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากนักการเมืองไม่ตอบรับเข้าพูดคุยก็จำเป็นต้องหาข้อยุติให้ได้มากที่สุด และกำหนดวันเลือกตั้งเอง เพราะต้องการทำตามที่ คสช.ได้ประกาศไว้

"ไม่มาแล้วจะคุยกับใครเล่า ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้มากที่สุดนะ มีพรรคกี่พรรคที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 40 50 60 พรรค กกต.จะรับทั้งหมดหรือไม่ ก็มาสิ ใครอยากมาก็มา ยังไงผมก็ไม่ไปเบี้ยวอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเลือกตั้ง ถ้างั้นก็กำหนดเอง จะไปยากอะไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีมีผู้ขอจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นก็ขอให้ไปดูกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ให้ความสนใจพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินใจ

สำหรับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นขั้นตอนทางกฎหมายที่สามารถทำได้ เมื่อมีข้อห่วงใยหรือข้อกังวลใดๆ ก็ขอให้ศาลพิจารณาให้เกิดความชัดเจน โดยตนเองระมัดระวังไม่ให้กระทบโรดแมพเลือกตั้ง และไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาของ สนช. แต่ตั้งข้อสังเกตุว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์มายังรัฐบาลเสมอ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้นไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพราะได้มอบหมายให้ดำเนินการไปแล้ว ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมายังรัฐบาล จึงขออย่าโยนเรืองนี้มาที่รัฐบาล เพราะเมื่อปัญหาเกิดที่ สนช.ก็ต้องแก้ปัญหาที่ สนช.เอง ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าสิ่งที่จะได้รับกลับมา

อย่างไรก็ตาม ตนเองมองว่าขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของความเห็นไม่ตรงกัน แต่เป็นเรื่องของความเป็นห่วงและทักท้วงในประเด็นต่างๆเข้ามา ซึ่งหากศาลวินิจฉัยออกมาก็ถือว่าเป็นข้อยุติและป้องกันไม่เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ