STEC เล็งเรียกค่าเสียหายจากปัญหาขยายเวลาสร้างรัฐสภาหลังต้องตั้งสำรองขาดทุน 3 พันลบ.

ข่าวการเมือง Thursday March 29, 2018 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภากรณีที่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างที่ทำการรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นผลทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองผลขาดทุนไว้ถึง 3 พันล้านบาท

"สัญญา 900 วัน กับพื้นที่ก่อสร้างเกือบ 5 แสนตารางเมตร เป็นเรื่องที่ท้าทายหลักวิศวกร เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดปัญหาที่สร้างความเสียหายจนถึงขั้นต้องเตรียมกันสำรองการขาดทุนไว้ 3,000 ล้านบาท และเราจะเตรียมเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานฯ เพราะนับถึงการขยายเวลาครั้งที่ 2 เราแจ้งยอด (ความเสียหาย) ไปที่ 1,673 ล้านบาท ส่วนการต่อสัญญาครั้งที่ 3 จะเรียกเท่าไรนั้นบริษัทจะสรุปได้ในเดือน เม.ย.นี้"นายพีระ กล่าว

นายพีระ กล่าวอีกว่า บริษัทไม่ได้ต้องการขยายเวลาการก่อสร้างออกไป เพราะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกเวลา ตกวันละราว 1 ล้านบาท รวมเวลาที่ขยายออกไป 1,400 วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 1,400 ล้านบาท ขณะที่ส่วนราชการเองก็ต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าแต่ละพื้นที่รวม 10 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น การขยายเวลาจึงไม่เกิดผลดีทั้งต่อภาครัฐและเอกชน

ส่วนจะดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายการเมืองฐานหมิ่นประมาทหรือไม่นั้นต้องดูว่ามีเจตนาสร้างความเสียหายหรือก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อบริษัทฯ หรือไม่

นอกจากนั้น เมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่กังวล คือ การทดสอบไฟที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งใช้ไฟ 2 อำเภอพร้อมกัน โดยค่าขอใช้ไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อทดลองจะตกอยู่ที่ 30 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.พรรษมนต์ ไทยวัฒนานุกูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กิจการร่วมค้า สงบ.1051 ได้ออกแบบระบบไอทีพื้นฐานของอาคารไว้ เช่น เรื่องท่อสาย ระบบสวิตซ์ แต่ไม่รวมแอพพลิเคชั่น คือ ระบบการลงคะแนน การนับคะแนนในที่ประชุม มูลค่า 3,000 ล้านบาท และหากถามว่าสามารถทำตามที่บริษัทออกแบบไว้ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่ใช้อาคารไม่ได้ เพราะไม่มีระบบรองรับการประชุมเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น ทั้งระบบ Data Center ห้อง NOC , SOC และศูนย์ข้อมูลสำรอง

เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาให้จ้างบริษัท เมอร์ลินส์ โซลูชั่น อินเตอร์แนชั่นนัล จำกัด มาทบทวนแบบที่ สงบ.1051 ออกแบบไว้ โดยให้เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล เช่น การเพิ่มเติมจุดกระจายสัญญาณ กล้องวงจรปิด วางระบบรักษาความปลอดภัยด้านไอที ใช้ระบบตรวจสอบลายนิ้วมือก่อนลงคะแนน เพื่อแก้ปัญหาทีผ่านมา จอในห้องประชุมแสดงผลระดับ 4K รวมงบไอทีที่เพิ่มขึ้นมา คือ 6,400 ล้านบาท เพื่อมุ่งสู่รัฐสภาในระบบดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

"ยืนยันว่าราคาจะยึดตามสเปคของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกเว้นแต่พวกสมรรถนะสูง เช่น ห้อง Data Center ห้อง NOC , SOC โดยเรื่องแบบไม่ใช่ความผิดของ สงบ.1051 เนื่องจากเขามองระบบไอทีในขณะนั้น ซึ่งระบุให้ทางสำนักงานไปหาหมวดระบบไอทีและโสตเพิ่มเติมทีหลังอีก 10 รายการ" น.ส.พรรษมนต์ กล่าว

ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีเวลาเหลืออีกไม่ถึง 1 ปี ต้องย้ายที่ทำการรัฐสภาจากถนนอู่ทองไปยังรัฐสภาแห่งใหม่หมด จึงมีความจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้การใช้งานอาคารมีความสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติจากคณะรัฐมตรี (ครม.) ซึ่งการวางระบบไอซีทีและโสตทัศนูปกรณ์ในอาคารต้องทำควบคู่กัน

"การทำภายหลังต้องรื้อทุบ จะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งหากงบประมาณมาไม่ทันก็อาจต้องขอขยายเวลา ซึ่งผู้รับจ้างจะตกลงหรือยกเลิกยังไม่รู้ เพราะทางบริษัท ซิโน-ไทย เองก็เคยเรียกร้องสิทธิในการเรียกความเสียหายมาแล้วหลายครั้ง แต่ผมก็ยืนยันไปว่าไม่จ่าย ที่ผ่านมาความล่าช้าที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางสำนักงานฯ ก็มีการตั้งกรรมการสอบไปบ้างตามที่ทราบกัน" นายสรศักดิ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ