"สวนดุสิตโพล"เผยเห็นด้วยเกือบครึ่งให้ปลดล็อคทางการเมือง แต่กังวลเกิดขัดแย้งบ้านเมืองวุ่นวาย

ข่าวการเมือง Sunday September 2, 2018 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคลายล็อคพรรคการเมืองเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วน ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์กับคำสั่งดังกล่าว เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน โดยกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 1,033 คน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน2561 สรุปผลได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไร

อันดับ 1 "ปลดล็อค"ทางการเมืองให้ดำเนินการโดยอิสระ 46.33% เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น พรรคการเมืองมีเวลาในการเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง ฯลฯ

อันดับ 2 "คลายล็อค"ทางการเมือง แต่ยังไม่ควรปลดล็อคทั้งหมด 35.26% เพราะให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมได้บางส่วน ป้องกันไม่ให้บ้านเมืองวุ่นวาย เกิดความขัดแย้ง ยังสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ ฯลฯ

อันดับ 3 ยังไม่ควรปลดล็อคและคลายล็อคทางการเมือง 18.41% เพราะอาจเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวรุนแรง การเมืองไทยมีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้บ้านเมืองย่ำแย่ อยากให้แก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน ฯลฯ

          สำหรับเรื่องที่ประชาชนวิตกกังวล ถ้ามีการ "ปลดล็อค" ทางการเมือง ณ วันนี้  ได้แก่ เกิดความขัดแย้ง บ้านเมืองวุ่นวาย 48.96% , กลุ่มต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ชุมนุม ประท้วง  35.76%, มีการหาเสียงรุนแรง โจมตีกันไปมา 25.35% ,คนฝ่าฝืนและไม่เคารพกฎหมาย           22.05%  และ รัฐบาลควบคุมดูแลสถานการณ์ลำบาก  17.19%

ส่วนเรื่องที่ประชาชนวิตกกังวล ถ้ามีการ "คลายล็อก" ทางการเมือง ได้แก่ การทะเลาะเบาะแว้ง ใส่ร้าย สาดโคลนกัน 50.67%, มีการคัดค้าน จัดกิจกรรมไม่เหมาะสม 31.39%, คสช.ไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ปิดกั้น 30.49%,พรรคการเมืองทำงานได้ไม่เต็มที่ 27.35% และพรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อค 21.97%

เรื่องที่ควร "คลายล็อค" ได้แก่ กำหนดนโยบายหาเสียงที่ชัดเจน 41.57% ,จัดประชุมพรรค ชุมนุมทางการเมือง 36.21%,ให้พรรคการเมืองเลือกหัวหน้าพรรคได้ 27.02% ,หาเสียงทางโซเชียลได้ 17.09%, กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แบ่งเขตเลือกตั้ง 13.86%

เรื่องที่ยังไม่ควร "คลายล็อค" ได้แก่ อภิปราย หาเสียงในที่สาธารณะขนาดใหญ่ 39.66%, มีการคัดเลือกผู้ที่จะลงสมัครเลือกตั้ง 40.18% และ จัดกิจกรรมลงพื้นที่ พบปะประชาชน 24.13%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ