เลือกตั้ง'62: ปชป.เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ภาคใต้ 50 เขต ชูนโยบาย 5 คูณ 2 แก้ปัญหายาง-ปาล์ม

ข่าวการเมือง Wednesday December 26, 2018 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 50 เขต พร้อมแถลงนโยบาย 5 คูณ 2 เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและยางพาราตกต่ำ โดยได้เชิญว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มาทำสัญญาประชาคมว่าสิ่งที่พรรคจะประกาศต่อไปนี้เป็นภาระหน้าที่ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องปฏิบัติตาม และต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จหากได้เข้าไปเป็นรัฐบาล

"ต่อไปนี้นโยบายที่พรรคประกาศ ผู้สมัครต้องท่องให้ได้และต้องทราบอย่างละเอียด เมื่อเราเป็นรัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ภาคใต้เป็นเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่ผู้สมัคร 50 คน เป็นขุนพลที่ต้องรักษาเมืองหลวง และรักษาพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า พรรคตระหนักดีว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรอยู่กันอย่างยากลำบาก ดังนั้น 1 ปีหลังจากเลือกตั้ง ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน เป็น 1 ปีที่ต้องฟื้นฟูวิถีเกษตรกร โดยเราเดิมพันว่าเราจะฟื้นฟูชีวิตของเกษตรกรกลับมาให้ได้

สำหรับภาคใต้มีนโยบาย 5 เรื่องหลัก คือ 1.ยางพารา 2.ปาล์มน้ำมัน 3.ประมง 4.ท่องเที่ยว และ 5.ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวันนี้ขอพูดเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เป็นหัวใจของเกษตรกรในภาคใต้ ด้วยนโยบายปาล์มและยาง 5 คูณ 2 โดยเรื่องราคายางพารามี 5 มาตรการที่ต้องทำ คือ มาตรการที่ 1 ประกันราคายางที่กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ รวมทั้งเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลจ่ายชดเชยไว้ที่ 15 ไร่เป็นหลัก ไร่ละ 16,000-17,000 บาท แต่การทำอย่างนี้ในอดีตไม่ได้ผล เพราะคนกรีดยางที่เป็นคนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผล แต่จะได้รับต่อเมื่อราคายางสูงขึ้น เราจึงใช้คำว่า "60 บาท 25 ไร่ ได้ทุกคน"

มาตรการที่ 2 ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นด้วยการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ 20% ปีละ 1 ล้านตัน เพื่อการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ และการปูอ่างเก็บน้ำ ถ้าสามารถผลักดันให้ราคาสูงได้ก็ไม่ต้องแทรกราคายางพารา

มาตรการที่ 3 ตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรชาวสวนยาง เป็นสังคมสวัสดิการแบบสมัครใจ จ่ายสมทบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49 (5)

มาตรการที่ 4 แก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 300,000 ครัวเรือน พื้นที่สวนยาง 5 ล้านไร่ โดยโฉนดสีฟ้าและโฉนดชุมชน

และมาตรการที่ 5 การสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง ด้วยชุดความคิดสวนยางยั่งยืน ตามทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง การเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นสมดุลนิเวศน์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการปลูกพืชอื่นร่วมกับยางพารา ทำเกษตรผสมผสาน ลดต้นทุนเพิ่มรายได้

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ส่วนนโยบายแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำนั้น ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ประกันรายได้เกษตรกรที่กก.ละ 4 บาท 25ไร่ ซึ่งใช้คำว่า "4 บาท 25 ไร่ ได้ทุกคน" มาตรการที่ 2 การใช้น้ำมันดีเซล B10 ทั่วประเทศ และการใช้น้ำมันดีเซลB20 ในการขนส่ง การประมง และใช้น้ำมันดีเซล B100 เพื่อสิ่งแวดล้อมในการเกษตร การทำประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มในปี 2562 ถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มาตรการที่ 3 เสนอร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. ... ฉบับสภาเกษตรกร และให้มีการซื้อปาล์มคุณภาพตามราคาหน้าโรงงาน มาตรการที่ 4 นำน้ำมันปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า จ.กระบี่ เพื่อปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ และมาตรการที่ 5 สนับสนุนการส่งออกและชะลอการนำเข้าน้ำมันปาล์ม

"เราไม่สามารถหยุดยั้งการนำเข้าได้ เพราะกฎหมายไม่ให้ทำ แต่เราใช้การชะลอหรือการผ่านแดนของน้ำมันปาล์ม นี่คือ 5 มาตรการสำหรับฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรชาวสวนปาล์ม" นายนิพิฎฐ์ กล่าว

นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า ปัญหาสำหรับสวนยางพาราและปาล์มน้ำมั้น พรรคใช้นโยบาย 5 คูณ 2 เชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนปาล์มและชาวสวนยางพาราให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พ้นจากความทุกข์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จากปัญหาราคาตกต่ำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบแบบครบวงจร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ