เลือกตั้ง'62: "ธนาธร"ไม่กังวลคดีผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พร้อมเข้าพบอัยการ เล็งปรับแก้หากมีอำนาจ

ข่าวการเมือง Friday February 22, 2019 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ต้องเดินทางไปเข้าพบอัยการสูงสุด (อสส.) ในวันที่ 27 ก.พ.จากกรณีถูกคณะทำงานฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีฐานกระทำผิด มาตรา 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อ บก.ปอท. กรณีไลฟ์สดวิจารณ์พลังดูด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมาว่า ไม่รู้สึกกังวลใจ เนื่องจากพรรคยังมีบุคคลกรอีกหลายคนที่พร้อมจะขึ้นมาทำหน้าที่แทนเพื่อผลักดันนโยบายของพรรค

"ถ้าย้อนกลับไปดู ก็คิดไว้แล้วว่าสิ่งนี้ต้องเกิด ผมเตรียมตัวเตรียมใจมาพอสมควร ไม่ได้อยู่ๆจะตัดสินใจมาที่นี่และเส้นทางจะโรยด้วยดอกกุหลาบ เมื่อเราเผชิญหน้ากับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราคาดหวังไว้อยู่แล้ว ไม่ช้าไม่เร็วก็เกิด พวกเราชาวอนาคตใหม่ยังหนักแน่น ตัวผมยังหนักแน่นไม่ได้มีความกังวลอะไร เตรียมตัวเตรียมใจมาแล้ว"นายธนาธร ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์

นายธนาธร เชื่อว่า เป็นการข่มขู่ของ คสช. แต่หากเราไม่กลัวการข่มขู่อำนาจที่ไม่เป็นธรรม เขาต่างหากที่ต้องกลัวเรา

เมื่อถูกถามว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกใช้นำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่มีนโยบายหรือจะแก้ไขพ.ร.บ.นี้อย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า กรณีที่ตนเองโดนคือมาตรา 14 ซึ่งมีอยู่วรรคหนึ่งที่ระบุว่าเป็นการกระทำผิดโดยใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จและทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

"แปลว่ามันมี 2 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรก คือ สิ่งที่ผมพูดมีอยู่ในสาธารณะ เพราะคนอื่นในสาธารณะก็พูดไปในทิศทางเดียวกับตน ดังนั้น จึงถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ส่วนองค์ประกอบที่ 2 ที่ระบุว่าทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก มันไม่มีใครตื่นตระหนก มีตื่นตระหนกอยู่คนเดียวคือ คสช."

ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า มาตรา 14 ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นอุปสรรคต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งเข้าใจว่าพ.ร.บ.ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ความมั่นคงทางไซเบอร์กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยังมีอีกหลายพ.ร.บ.ที่ตัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ในการตรวจสอบรัฐบาล ในการแสดงสิทธิ์เพื่อข้อเรียกร้องของตนเอง ซึ่งถ้าพรรคอนาคตใหม่มีอำนาจก็จะอยู่ในแผนการของการปรับแก้เพื่อเอาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคืนมา

"ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ประชาชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะอำนาจมาจากประชาชน ถ้าประชาชนไม่สิทธิและเสรีภาพ ไม่มีใครตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ถ้าเราจะพูดถึงการต่อต้านคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน บุคคลใกล้ชิด พลังภาคประชาสังคมจะเป็นตัวสำคัญในการตรวจสอบ ดังนั้น ประชาธิปไตยที่ดีต้องให้อำนาจภาคประชาสังคมให้มากเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจ"นายธนาธร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ