พาณิชย์ ปลื้มอาเซียนไฟเขียว 13 ประเด็นเศรษฐกิจ พร้อมจับมือปฏิรูป WTO สร้างความเชื่อมั่นนลท.

ข่าวการเมือง Wednesday April 24, 2019 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 22– 23เมษายน 2562 ได้เห็นชอบประเด็นที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันเพื่อให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ (Priority Economic Deliverables) ทั้ง 3 ด้าน 13 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย ด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การสรุปการเจรจา RCEP และด้านการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน

น.ส.ชุติมา กล่าวเสริมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ยังได้ลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน (AFAS) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น รวมถึงยังได้ร่วมลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน อีกด้วย

สำหรับประเด็นด้านการปฏิรูป WTO อาเซียนเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกมีบทบาทเชิงรุกใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย (1) การธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี (2) ความจำเป็นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทางการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน และ (3) ความเร่งด่วนในการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกการทำงานของ WTO จะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อาเซียนยังได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับผลของการเจรจาในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย ผลการเจรจาจัดทำความตกลงยอมรับร่วม ASEAN MRA on Type Approval for Automotive Products (AP MRA) ที่ล่าสุดสามารถตกลงประเด็นคงค้างที่สำคัญเกี่ยวกับคำนิยามของผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน (ASEAN Automotive Products) ได้แล้ว โดยในช่วงแรก MRA ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอาเซียน (Manufactured in ASEAN) และให้ทบทวนในปีที่ 4 หลังจาก APMRA มีผลใช้บังคับ ส่วนในด้านการจัดทำ MRA ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ภายในอาเซียนจะลดอุปสรรคทางการค้าลง ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการรับรองผลการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานทดสอบของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยที่ไม่ต้องตรวจสอบสินค้าและรับรองซ้ำอีกต่อไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 51 ในเดือนกันยายนนี้

สำหรับผลการเจรจาและประเด็นคงค้างสำคัญของการเจรจา RCEP อาเซียนจะต้องร่วมกันหาท่าทีในประเด็นที่ยังไม่มีท่าทีร่วมให้ได้ในช่วงการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือประเด็น RCEP อีกครั้งในช่วงก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเสนอเป็นท่าทีต่อประเทศคู่เจรจา ก่อนพบกับคู่เจรจาในการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป ครั้งที่ 26 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้ สำหรับการประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ASEAN-BAC ได้นำเสนอประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะมีการดำเนินงานในปีนี้ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยขจัดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (NTB) และลดขั้นตอนทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำ (Low Value Shipment) และการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการค้าดิจิทัลในภูมิภาค (Regional Digital Trade Connectivity) โดยเสนอให้มีการจัดทำแผนงาน การดำเนินงานในการปรับประสานกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัลระหว่างสมาชิกอาเซียน แก้ไขกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการค้าดิจิทัลในภูมิภาค รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2560 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ