เลือกตั้ง'62: เพื่อไทย ออกแถลงการณ์ค้านวิธีคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของกกต. ยันขัดรธน.-กม.เลือกตั้งส.ส.

ข่าวการเมือง Wednesday May 8, 2019 19:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อได้ ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองนั้นๆ มีคะแนนไม่ถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และยังปรากฏด้วยว่าพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรรที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อเหล่านั้น ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงจำนวนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดไว้อีกด้วยเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยได้แถลงให้ทราบไปแล้วว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 128 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถที่จะคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กล่าวคือ

1. พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน (ประมาณ 70,000 คะแนน)

2. พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ย่อมไม่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงมี และไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ประกอบมาตรา 128 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับเท่านั้น

3. หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) และมาตรา128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนท้ายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี หากมีการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคดังกล่าว จะมีผลให้พรรคนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่พึงมี (เดิมไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย) ซึ่งจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงขัดต่อมาตรา 128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมา ของ กกต.ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับทราบข้อท้วงติง ข้อทักท้วงของพรรคการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อตาม "สูตรแจกพรรคเล็ก" และได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

โดยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมาของ กกต. เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แคนดิแดทนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ย้ำพรรคการเมืองจะมี ส.ส.เกินกว่า ส.ส.พึงมีไม่ได้ เพราะหากดูจากวิธีคำนวณคะแนนพึงมีของคนที่ได้คะแนนมากกว่า 30,000 จะมี ส.ส.พึงมีแค่ 0.5 คน ดังนั้นหากจะปัดคะแนนขึ้นไปเป็น 1 คนซึ่งจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ทั้งนี้ นอกจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว การคำนวณออกมาโดยผลลัพธ์ ก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ซึ่ง กกต.จะไปสรุปว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วการคำนวณก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หาก กกต. จะยืนยันที่จะประกาศผลคะแนนพึงมีให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,000 คะแนนได้ที่นั่งไปนั้น กกต.จะตอบสังคมและผู้เสียหาย ซึ่งก็คือพรรคการเมืองที่สูญเสียที่นั่ง ส.ส.จากการคำนวณไปให้ได้ว่าสิ่งที่ กระทำอยู่นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่หาก กกต.จะอ้างว่าได้ถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และศาลแจ้งว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องถามกลับไปที่ กกต.ว่าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือสูตรที่นำมาคำนวณ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่น ที่ก่อนจะลงเล่นได้อ่านและทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญมาอย่างละเอียด แต่หาก กกต.จะอ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง เท่ากับว่าเป็นการบอกกติกากับคนผ่านรัฐธรรมนูญอีกอย่างหนึ่ง แต่กลับไปคำนวณด้วยวิธีที่ผิดรัฐธรรมนูญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ