กลับสู่วังวนธุรกิจการเมืองเจรจาต่อรองเก้าอี้ รมต.ฝ่าด่านแรกรัฐบาลใหม่พิจารณา กม.งบประมาณ

ข่าวการเมือง Tuesday May 28, 2019 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากภาพความวุ่นวายการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นยกแรกของการต่อรองทางการเมือง และหากจะพูดว่า พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ คงไม่ผิดนัก

แรกเริ่มเดิมที พรรคพลังประชารัฐ หมายมั่นปั้นมือที่จะส่งนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ลงชิงตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ถึงวันลงแข่งจริงกลับต้องยอมถอยหลีกทางให้ นายชวน หลีกภัย ลงชิงตำแหน่งกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อถึงเวลาเริ่มเปิดประชุมสภาฯ เกมการต่อรองกลับไม่ลงตัว มีรายงานว่าบางกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐไม่พอใจที่เก้าอี้รัฐมนตรีในมือถูกยกให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดการเสนอญัตติขอเลื่อนการเลือกประธานสภาฯโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่สุดท้ายบ่ายวันเดียวกันเมื่อทุกอย่างเคลียร์ลงตัว ทำให้เห็นภาพนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และ ส.ส.จากพลังประชารัฐ อีก 4 คนโหวต"มติไม่เห็นด้วย"ที่จะให้เลื่อนการเลือกประธานสภาฯออกไป ขัดกับทิศทางการโหวตของพรรคอย่างชัดเจน

นายอนุชา ออกมายอมรับแบบแมนๆ ว่าตั้งใจโหวต ส่งผลการเลือกประธานสภาฯเกิดขึ้นต่อทันที และสุดท้ายแล้วนายชวน ชนะนายสมพงษ์ไปด้วยคะแนนปริ่มน้ำ 246 ต่อ 235 ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 15

ว่ากันว่า เหตุที่พรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนเกมเพื่อให้การโหวตประธานเกิดขึ้นทันที โดยไม่รอให้มีการเลื่อนออกไป เนื่องจากเกรงว่าหากเลื่อนออกไปอาจจะเกิดการต่อรองตำแหน่งเก้าอี้กันอีกรอบ

ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจากสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล โดยรองประธานสภาฯคนที่ 1 ก็คือ นายสุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ และรองประธานคนที่ 2 คือ นายศุภชัย โพธิ์สุ จากพรรคภูมิใจไทย ถือว่างานด้านนิติบัญญัติมาครบตามโควต้าทุกตำแหน่ง

ด้านพรรคพลังประชารัฐไม่ปล่อยช่วงเวลาทองหลุดลอยไป เมื่อทุกอย่างลงตัว นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมผู้บริหารพรรค เดินหน้าสู่ขอเทียบเชิญทั้ง 2 พรรค ในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม โดยเช้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์ คล้อยบ่ายไปพรรคภูมิใจไทย โดยมีของขวัญตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอมอบให้เป็นการขอบคุณที่เข้าร่วมรัฐบาล

กระแสข่าวระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจได้โควตาในคณะรัฐมนตรี 7 ตำแหน่ง ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรี, รมว.พาณิชย์, รมว.พลังงาน, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รมช.มหาดไทย และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยไม่น้อยหน้าเช่นกัน ได้โควต้าคุมกระทรวงคมนาคม, สาธารณสุข, ท่องเที่ยว และยังมีตำแหน่ง รมช.คมนาคม, รมช.มหาดไทย, รมช.เกษตรและสหกรณ์

แม้จนถึงตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตอบรับการเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเต็มตัว แต่สิ่งสำคัญพรรคต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ถึงเหตุผลใดที่พรรคยอมจับมือเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประกาศชัดเจนก่อนเลือกตั้งว่า"ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ"จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย แม้ทางการเมืองทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาก็ตาม

หากเงื่อนไขที่ดีลไว้ทั้งหมดลงตัว พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคร่วม ทั้งจากภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และพรรคขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 253 ที่นั่ง ไม่นับรวมงูเห่าที่อาจมาเพิ่มคะแนนเสียงให้กับฝั่งพลังประชารัฐในการโหวตนายกรัฐมนตรี แลกกับตัวเลขทางบัญชีที่ว่ากันว่าสูงถึง 8 หลัก

ถือว่าเป็นอีกครั้งที่พรรคน้องใหม่ทางการเมืองอย่างพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในอดีตพรรคไทยรักไทยก็สามารถทำได้ แต่ความแตกต่างชัดเจน คือ พรรคไทยรักไทยนำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถควบคุมก๊วนต่างๆ ภายในพรรคได้ แตกต่างกับพรรคพลังประชารัฐที่เหมือนเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.และหนีไม่พ้นการต่อรองตำแหน่งของกลุ่มก๊วนต่าง ๆ เพื่อแบ่งผลประโยชน์ภายในพรรค

อีกไม่นานคงจะเห็นหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ น่าติดตามอย่างยิ่งว่านักการเมืองที่ว่างเว้นการทำงานมา 5 ปี มาทำงานร่วมกับกลุ่มอดีตนายทหารจะนำพาประเทศไปในทิศทางใด เพราะแค่เรื่องตำแหน่งในฝ่ายบริหารยังฝุ่นตลบไม่เลิก ทุกพรรคยังเล่นการเมืองด้วยการเอาจำนวนที่นั่ง ส.ส.เป็นตัวต่อรองท่ามกลางความหวังของประเทศไทยที่ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา

สิ่งที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง คือ ความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งหนีไม่พ้นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ย่อมส่งผลต่อการพิจารณากฏหมายสำคัญ ซึ่งด่านแรกหลังจัดตั้งรัฐบาล คือ การพิจารณางบประมาณประจำปี 2563 เพราะถ้าหากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ รัฐบาลก็สิ้นสุดทันทีโดยยังไม่ทันได้โชว์ผลงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ