"วิษณุ" แจงขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ ครม.ประยุทธ์ 2 ต้องใช้เวลา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ข่าวการเมือง Thursday June 13, 2019 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า หากสมมุตินายกรัฐมนตรีส่งรายชื่อ ครม. ให้กับนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการครม. ตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ จะมีเวลาตั้งแต่วันเสาร์ถึงวันอังคาร 18 มิ.ย. ในการตรวจสอบ และหลังจากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังไม่ทราบว่าจะโปรดเกล้าฯเมื่อใด หรือหากโปรดเกล้าฯลงมา ก็จะไม่ทันการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลเก่าที่ต้องดำเนินการ

นายวิษณุ กล่าวว่า ตามขั้นตอนปกติจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว สามารถนำรายชื่อส่งให้เลขาฯ ครม. ตรวจสอบประวัติ และคุณสมบัติต้องห้ามต่างๆ

"ข้อมูลทั่วไปไม่ยาก แต่จะยุ่งยากในเรื่องของการตรวจสอบหุ้น สัมปทาน และคดีความ ประวัติการต้องโทษ เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม และศาล ซึ่งจะต้องรอวันเวลาราชการ" นายวิษณุระบุ

พร้อมกันนี้ นายวิษณุ ยังระบุว่า ไม่มีกรอบเวลาในการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ขึ้นอยู่กับแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ทั้งนี้ หากเข้าถวายสัตย์ฯ แล้ว ถึงจะกำหนดกรอบเวลาให้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน

รองนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า การเปิดรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 9 คน ภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นจะไม่เป็นโมฆะ เนื่องจากอย่างน้อยผู้ที่ถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้อยู่ร่วมในการพิจารณาตนเอง เช่นเดียวกับการพิจารณาเลือกคณะกรรมการอื่นๆ ส่วนคำสั่งที่ 1/2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ยืนยันว่าเป็นคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเป็นขั้นตอนภายใน ไม่เกี่ยวกับประชาชน แต่หากเห็นว่าไม่ถูกต้องสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย เตรียมนำเรื่องคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นเรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครชี้แจง เนื่องจากเป็นเรื่องอำนาจของ คสช.

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งชื่อ 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งต้องขึ้นกับดุลยพินิจของศาลฯ ว่าจะใช้มาตรฐานเดียวกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ แต่เชื่อว่า ส.ส.ส่วนใหญ่อาจถือหุ้นแตกต่าง คนละประเด็นกับนายธนาธร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ