(เพิ่มเติม) ฝ่ายค้านจัดทีมอภิปรายรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 5 ปี คาดใช้เวลา 5-6 ชม.เน้นความล้มเหลวแผนปฏิรูปประเทศ

ข่าวการเมือง Tuesday June 25, 2019 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝายค้าน และการประชุมพรรคเพื่อวางตัวบุคคลในการอภิปรายในการประชุมสภาผูแทนราษฎรวันพรุ่งนี้ว่า เรื่องสำคัญที่พรรคให้ความสำคัญ คือ ประเด็นที่จะพิจารณาแผนปฏิรูปประเทศ เนื่องจากเห็นว่าประเด็นดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าเลย เช่น ด้านการปฏิรูปสื่อที่ถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความชัดเจนปมนาฬิกา

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรค พท.แถลงว่า พรรคเพื่อไทยจะมีกระทู้สด และกระทู้ถามทั่วไปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร และการขุดลอกคูคลอง และอื่นๆ โดยเรื่องสำคัญคือ การรับทราบแผนการปฏิรูปประเทศที่ต้องรับทราบทุกๆ 3 เดือน โดยจะใช้เวลาอภิปรายประมาณ 5-6 ชั่วโมง โดยพรรคเพื่อไทยจะมีเวลา 150 นาที พรรคอนาคตใหม่ 100 นาที นอกเหนือจากนั้นเป็นเวลาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

นายจิรายุ กล่าวว่า ในการอภิปรายจะชี้ให้เห็นว่าการร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเรื่องโกหก หลอกลวง ถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคมคิด ทำลายโอกาสของประเทศ หรือเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจของคสช. หรือไม่ โดยสมควรที่จะให้มียุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากอภิปรายไม่แล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) อาจจะขอใช้เวลาอภิปรายในวันถัดไปต่อ

ทั้งนี้ การอภิปรายในวันพรุ่งนี้จะดุเด็ดเผ็ดมันแน่นอน เพราะเป็นการอภิปรายครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีการยึดอำนาจมา

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุมเตรียมพร้อมเพื่ออภิปรายและร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาต่อเนื่องพอสมควร เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านขอเวลาอภิปรายไปจนถึงเสร็จสิ้นการประชุม คือ เวลา 21.00 น.

อย่างไรก็ตาม รายงานความคืบหน้าของแผนปฏิรูปถือเป็นการนำเสนองานช่วงรอยต่อของรัฐบาลชุดเก่าและรัฐบาลชุดใหม่ที่เตรียมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีตัวแทนจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้รายงานความคืบหน้า

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านขอเวลาอภิปรายว่า จะไม่ทำให้เกิดปัญหา หรือ สร้างความวุ่นวาย หรือใช้เป็นเวทีเพื่อซักซ้อมการอภิปรายรัฐบาล ทั้งนี้ตามขั้นตอน ส.ส.มีเพียงหน้าที่รับทราบรายงานเท่านั้น ขณะที่การติดตามและตรวจสอบความคืบหน้างานปฏิรูปนั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นจะศึกษาข้อมูลการปฏิรูปที่ผ่านมาว่าอยู่ในกรอบหรือหลักการหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ