นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม G20 เสนอ 3 แนวทางร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกผันผวน

ข่าวการเมือง Friday June 28, 2019 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความคิดเห็นในการประชุมผู้นำ G20 ในหัวข้อ "เศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน" ณ ห้องประชุมเต็มคณะ (Plenary Room) ชั้น 1 อาคาร 6 ศูนย์ประชุมอินเท็กซ์ โอซากา โดยระบุว่า หลังจากไทยได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้วพบว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกประสบกับความไม่แน่นอน เหตุมาจากปัจจัยหลักคือการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุพาคี นำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้า ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง และกระทบต่อบรรยากาศของความร่วมมือระหว่างประเทศที่สร้างสรรค์

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า แนวทางการแก้ไขสอดคล้องกับหัวข้อวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)" โดยทุกประเทศควรมองผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว และร่วมมือกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยั่งยืน ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารสำคัญที่ระบุถึงแนวทางความร่วมมือในอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก 2 ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก ซึ่งย้ำถึงการส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพ การพัฒนาและก้าวไปด้วยกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างกันดังนี้ ประการแรก ย้ำหลักการเปิดเสรีทางการค้าและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของโลก อาเซียนมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไทยมุ่งมั่นให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP บรรลุผลภายในปีนี้ หวังว่า RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ประกอบด้วยทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่ครอบคลุมร้อยละ 31.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก

ประการที่สอง เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการค้าพหุภาคี และพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งผลปฏิรูปไปยังองค์การ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นการค้ายุคใหม่ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ประการที่สาม สร้างความสอดคล้อง (synergy) ระหว่างประเทศ ภูมิภาค และกรอบความร่วมมือ ทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกระดับ โดยในระดับอาเซียน ไทยผลักดันแนวคิดความเชื่อมโยง อย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และขยายแนวคิด "connecting the connectivities" เพื่อเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS ASEAN BIMSTEC ACD และ IORA เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำ การรับมือกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก สังคมผู้สูงอายุ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่อาเซียนกำลังจัดตั้งที่ประเทศไทยในปี 2562 นี้

สำหรับในช่วงบ่ายเป็นการประชุมช่วงที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง นวัตกรรม (เศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์) นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำ G 20 ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมแห่งอนาคตที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การไหลเวียนข้อมูลอย่างเสรีด้วยความเชื่อมั่น และปัญญาประดิษฐ์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ