รัฐบาลเตรียมแถลง 12 นโยบายหลัก 12 นโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา คาดใช้งบราว 3.3 ล้านลบ./ปี

ข่าวการเมือง Monday July 22, 2019 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติพุทธศักราช 2561-2580 เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ครม.เตรียมแถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลจะดำเนินการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข สามัคคีและเอื้ออาทร คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย นโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง

สำหรับนโยบายหลัก 12 ด้าน ได้แก่ 1.การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3.การทำนุบำรงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 4.การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก

5.การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยจะดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจไทย สามารถตอบสนองต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยการบริหารเศรษฐกิจมหภาคให้มีเสถียรภาพ เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมและการเจริญเติบโตของธุรกิจทุกระดับ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาให้บริการและพัฒนาขีดความสามารถสถาบันการเงินไทย รวมถึงจะติดตามกำกับดูแลให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ตลอดจนปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ ซึ่งจะมีการทบทวนค่าลดหย่อนหรือมาตรการภาษีที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาภาษีประเภทใหม่ ๆ ให้สอดรับกับเทคโนโลยีและการค้าในยุคดิจิทัล

ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จะพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือแนวโน้มการค้าโลก ส่วนภาคการเกษตร จะรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด โดยผ่านเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดินเกินสมควร เป็นต้น

ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิพร้อมทั้งปรับปรุงระบบการกำกับดูแลกิจการด้านพลังงานให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นต้น

6.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจหลักเชิงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และพื้นที่ที่มีความได้เปรียบเชิงที่ตั้งที่สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมในอนาคต ตอลดจนส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ

7.การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 8.การปฏิรูปกระบวนการเรียนและการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย 9.การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม 10.การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ และ 12.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม

ส่วนนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน 2.การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว จัดเตรียมมาตรการรองรับการกีดกันทางการค้าและมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกให้ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ปรับปรุงทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นโดยเร็ว

4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม 5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ 9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 10.การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย และ 12.การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในครั้งนี้จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยต้องดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้มีข้อผูกพันไว้ในเวทีโลก

ประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านและต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ ๆ หลายประการ อาทิจากการต่อสู้กับความยากจนในอดีต ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากรูปแบบ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำของโอกาส และความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน หรือแม้แต่การต่อสู้กับความไม่สงบภายในประเทศในอดีต มาสู่การต่อสู้กับภัยคุกคามที่ไม่มีแบบแผนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติเครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติโรคระบาด และสงครามไซเบอร์

ประเด็นท้าทายข้างต้นเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการบริหารประเทศที่รัฐบาลจะต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ประชาชนให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยในทุกช่วงวัยจะมีความพร้อมทั้งในด้านหลักคิด คุณธรรม และจริยธรรม และมีศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เราจะร่วมกันสร้าง "การเติบโตเชิงคุณภาพ" ไม่ใช่ "การเติบโตเชิงปริมาณ" ทั้งนี้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ทันการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างความเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาที่ยังดำรงอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีความเข้มแข็ง

ในระยะยาว นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในประชาคมโลกและมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติโดยการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 4 ปีของรัฐบาลจะยึดหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1.น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการบริหารประเทศ

2.ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3.พัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4.บูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในลักษณะประชารัฐเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และทำให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นคง อยู่ดีมีสุข

การดำเนินงานตามประเด็นนโยบายเร่งด่วนดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีความถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาจากพื้นฐานที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับกรอบวินัยด้านการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสำหรับประชาชนสามารถนำรายได้บางส่วนจากภาษีที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีมาใช้ในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว ส่วนประเด็นนโยบายเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลจะพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการทำงานหรือลงทุนร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวร่วมกัน และพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณมาใช้ในการลงทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เงินสะสมของกองทุนต่าง ๆ และการแปลงสิทธิและทรัพย์สินให้เป็นทุนได้ในอนาคต เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสาธารณสุข และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินนโยบายดังกล่าวซึ่งในช่วงระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คาดว่างบประมาณประจำปีจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้จากภาษีของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีของรัฐให้มีความครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นการขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม รวมทั้งเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกลับมาสู่ระบบภาษีที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคมตามนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้แผนงานหรือโครงการใดที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว รัฐบาลจะพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่อาทิกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยในโครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงิน เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงิน ซึ่งการใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดภาระด้านการคลังของประเทศแล้วจะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อีกด้วย ทั้งนี้การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามนโยบายนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และตรวจสอบได้เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

โดยช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะยึดกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามความเร่งด่วนและทรัพยากรที่มีอยู่ หลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และขับเคลื่อนการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นฐานสำคัญในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ข้างหน้าตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ