นายกฯ ยันเดินหน้าแก้ภัยแล้งเต็มที่ห่วงพื้นที่ปลูกข้าวเกินระบบชลประทานกว่าเท่าตัว

ข่าวการเมือง Wednesday July 24, 2019 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า สาเหตุหลักคือปริมาณฝนมีน้อยเกินไป เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงจากสภาพอากาศโลก สิ่งที่ต้องระวังทั้งภูมิภาคอาเซียน คือที่ผ่านมามีพายุเข้ามาน้อยและสลายตัวไปก่อนทำให้ฝนตกน้อยไปอีก จึงทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อย

ประกอบกับกับการทำนาปรังของเกษตรกร ซึ่งไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรเพราะมีการปลูกข้าวเกิน 1 ล้านไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำเพียงพอการเพาะปลูกแค่ 1.3 ล้านไร่ แต่มีการเพาะปลูกไป 2.6 ล้านไร่ และเมื่อประชาชนเรียกร้องรัฐบาลต้องปล่อยน้ำให้จนถึงขีดจำกัด และต่อจากนี้คงไม่สามารถปล่อยน้ำภาคการเกษตรให้ได้อีก เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลต่อระบบประปา น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้ประชาชนเกิดปัญหาจากการใช้น้ำ ดังนั้น ต้องกลับมาดูต้นตอปัญหาการบริหารจัดการน้ำให้มีความสัมพันธ์กันกับน้ำเพาะปลูก

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงราคาพืชผลทางการเกษตรจากผลกระทบภัยแล้ง เพราะเกษตรกรได้ลงทุนไปมาก โดยยอมรับว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากไม่สามารถปล่อยน้ำลงมาจากเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ได้มีการกำหนดระดับที่จะมีการปล่อยน้ำลงมา หากน้ำต่ำกว่าระดับที่ได้กำหนดไว้ก็ไม่สามารถปล่อยลงมาช่วยเหลือเกษตรกรได้ ส่วนผลผลิตที่ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจะหามาตรการช่วยเหลือต่อไป เช่น การช่วยเหลือการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรแก้ไขได้ยาก หากเกษตรกรยังปลูกข้าวมากจนเกินไป ซึ่งประเทศไทยควรจะปลูกข้าวโดยระบบชลประทานไม่เกินร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 60 มาจากการปลูกโดยใช้น้ำฝน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิต เกษตรกรจึงควรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยบ้าง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ แต่ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการให้เกษตรกรยอมปรับพฤติกรรม เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ทั้งนี้แนวทางในการจัดโซนนิ่งทางการเกษตร ต้องพิจารณาให้มีความชัดเจนมากกว่านี้

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สทนช., กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเท่าที่จะดูแลได้ โดยการดูแลให้ความช่วยเหลือจะต้องสัมพันธ์กับพืชผลการเกษตรที่ปลูกในขณะนี้ รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคที่ขาดแคลน

ส่วนการขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกับทั้งจีน ลาว เมียนมาแล้ว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีการปล่อยน้ำมากขึ้น ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติและภัยแล้ง ซึ่งได้เริ่มทำงานแล้ว ทั้งในเรื่องการจ่ายน้ำ ขุดลองคูคลองเพิ่มเติมในช่วงที่รอน้ำ ทั้งนี้จะนำปัญหาภัยแล้งหารือใน ครม.ต่อไป เพื่อจัดสรรงบประมาณให้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำที่มีทั้งหมด โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในทุกด้านและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการทำฝนเทียมนั้น มอบหมายให้กรมฝนหลวงสำรวจว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม ที่จะสามารถทำได้ หรือมีเมฆมาก มีความชื้นเพียงพอก็จะเร่งดำเนินการทันที ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าทำฝนหลวง ซึ่งทำไปแล้วกว่า 5,000 ครั้งและจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกมาตรการแล้ว รอแต่เพียงฝนที่จะตกลงมา โดยคาดว่า ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากแถลงนโยบายแล้ว ในสัปดาห์หน้าทุกกระทรวงจะทำงานอย่างสัมพันธ์ทั้งระบบ ต้องหาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม แก้ปัญหา ลดความเสี่ยง ไม่แก้ปัญหาเพิ่มจากเดิมในทุกเรื่อง

สำหรับศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ มี กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งศูนย์บรรเทาภัยพิบัติ แจกจ่ายรถน้ำ และ กระทรวงมหาดไทย ทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมประชาชนว่ามีพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนเพื่อเตรียมการเยียวยาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ