พรรคร่วมฝ่ายค้าน จี้รัฐบาลคลี่คลายปมถวายสัตย์ฯ สร้างความเข้าใจถูกต้อง หลังนายกฯ เมินตอบกระทู้ถามสด

ข่าวการเมือง Thursday August 15, 2019 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ฝ่ายค้านได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่างญัตติขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้สดกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน หากมีการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นก็อาจจะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในบ่ายวันนี้หรือวันพรุ่งนี้

นายสุทิน กล่าวต่อว่า เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หากนายกรัฐมนตรีนี้ไม่มาชี้แจงไปเรื่อยๆ แล้วโยนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะทำให้เวลาล่วงเลยนานไป ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล

"อย่างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพียงการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเห็นชอบมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาประชาชน ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลเองไม่เชื่อมั่นในสถานภาพของตัวเอง ดังนั้นการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ครั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหาทางออกเรื่องนี้ และทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ และไม่ถือเป็นการชี้นำองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตอนแถลงนโยบายในระหว่างที่เรื่องอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ"

ส่วนกรณีในการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 13 เมื่อวานนี้ ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้คะแนนฝ่ายค้าน 223 ต่อ 234 เสียง นายสุทิน กล่าวว่า จะมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐบาลก็ได้ หรือถ้ามองในเชิงเนื้อหาแล้ว หากพิจารณาเหตุผลของคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยทั้งนายอดิศร เพียงเกษ และนายขจิตร ชัยนิคม เชื่อว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลหลายคนเห็นด้วยและลงคะแนนให้

ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์แห่งข้อเท็จจริง ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ได้ประโยชน์เพราะจะได้ชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจชัดเจน ทั้งนี้ ประเด็นการถวายสัตย์ของนายกฯ เป็นเรื่องสำคัญไม่แตกต่างจากความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องอื่นๆ หากข้อกังขาในการทำผิดรัฐธรรมนูญยังอยู่ ประชาชนยังไม่ได้รับความกระจ่างก็ถือว่าเดือดร้อนเหมือนกัน หากผิดรัฐธรรมนูญจริงสิ่งต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการไปก็จะยุ่งยากวุ่นวาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ