ฝ่ายค้านระดม 15 ส.ส.อภิปรายทั่วไปปมนายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ฯ ยันเนื้อหาไม่ซ้ำซาก

ข่าวการเมือง Wednesday September 4, 2019 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีความชัดเจนว่าจะมีการประชุมนัดพิเศษเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหากรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนและการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในวันที่ 18 ก.ย.กำหนดเวลาเบื้องต้น 09.30-24.00 น.นั้น ได้เตรียมหารือกับตัวแทนวิปรัฐบาล เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจต่อเวลาและหลักเกณฑ์การอภิปรายตามญัตติ

สำหรับการวางตัวบุคคลที่จะอภิปรายนั้น เบื้องต้นได้กำหนดจำนวนไว้ทั้งสิ้น 15 คน ส่วนจะจัดสรรอย่างไรนั้นต้องรอพิจารณาเวลาที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนกรณีที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล เคยระบุว่าหากอภิปรายซ้ำซากอาจขอใช้ช่องทางปิดการอภิปรายนั้น ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเข้าใจในประเด็นดังกล่าว และเห็นชอบด้วยที่หากพบการอภิปรายซ้ำซาก สามารถขอปิดอภิปรายได้ แต่การเตรียมพร้อมของพรรคฝ่ายค้านยืนยันว่าจะไม่ซ้ำซาก และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์

ขณะที่การจัดสัดส่วนเวลาให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านควรได้รับ ประมาณ 12 -13 ชั่วโมง ขณะที่รัฐบาลควรได้รับ 2-3 ชั่วโมง

สำหรับประเด็นที่ขอให้การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับนั้น นายสุทิน กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านยังไม่เห็นประเด็นที่จะเสนอให้เป็นการประชุมลับ แม้ว่าหลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีการอภิปรายในประเด็นที่ละเอียดอ่อนและกระทบต่อสถาบัน แต่พรรคฝ่ายค้านยืนยันว่าไม่มีประเด็นดังกล่าวแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากจะมีความละเอียดอ่อนที่อาจเกิดได้ระหว่างการอภิปรายคงเป็นสิ่งที่เกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ เอง

"กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรมาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงเอง ส่วนเรื่องงบประมาณอาจให้บุคคลอื่นมาชี้แจงเสริมได้ ทั้งนี้หากนายกฯ ไม่มาร่วมประชุม ฝ่ายค้านติดใจแน่นอน เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงภาวะความรับผิดชอบและสปีริต ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริง พรรคฝ่ายค้านเตรียมใช้ช่องทางร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต่อไป" นายสุทิน กล่าว

พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีการตรา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 เพราะเป็นการเสนอ พ.ร.ก. เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลลุแก่อำนาจ และเป็นความบกพร่องที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่ ออก พ.ร.ก. เพื่อมีผลกระทบต่อพ.ร.บ.

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าการเสนอ พ.ร.ก.ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมติของวิปรัฐบาลในวันนี้ (4 ก.ย.) เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.แล้ว ต้องนำมาให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาในการประชุมนัดแรกทันที แต่พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบของการตรา พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว จึงทำให้เป็นประเด็นที่การพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องชะลอออกไป แต่บุคคลที่จะสั่งให้ชะลอหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับนายชวน ไม่ใช่วิปรัฐบาลจะใช้มติให้ชะลอหรือถอนเรื่องออกจากการพิจารณา

ทั้งนี้ ในอดีต หากพ.ร.ก.ไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาฯ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งตามประเพณีปฏิบัติ แต่ปัจจุบันต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลมีพฤติกรรมลุแก่อำนาจและเป็นการกระทำที่บกพร่องชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ